กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งส์ ได้รับการพิจารณาการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มูลค่ากว่า 220,000 ล้านบาทระยะทาง 220 กิโลเมตร มาจนถึงด่านที่ 3 คือ เรื่องของการเงินและผลประโยชน์ตอบแทน โดยกลุ่ม ซีพี ยื่นขอเงินอุดหนุนจากรัฐน้อยที่สุด ต่ำจากวงเงินเต็ม 1.19 แสนล้านบาท และต่ำกว่าผู้ประมูลรายอื่น
กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งส์ มีพันธมิตร ประกอบด้วย China Resources Company Limited, CITIC Group Corporation และ CRRC-Sifang ร่วมด้วยธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JBIC บริษัท Siemens จากเยอรมนี Hyundai จากเกาหลีใต้ และ Ferrovie dello Stato Italiane จากอิตาลี เมื่อพิจารณาจากบริษัทพันธมิตรทั้งหลายกลุ่ม ซีพี มีจุดแข็งรอบด้าน โดยเฉพาะได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ทั้งจากจีนและญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม การประมูลรถไฟความเร็วสูงครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย มีด่านสำคัญอีกมากมายที่จะต้องผ่านเกณฑ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยและสถานะทางเศรษฐกิจ เริ่มจาก จำนวนผู้โดยสาร กว่ารถไฟความเร็วสูงจะใช้งานได้ ใช้เวลาอย่างน้อยอีก 5 ปี ถึงเวลานั้นอาจจะเสี่ยงกับการขาดทุน เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการไม่เป็นไปตามเป้า
ต้นทุนค่าใช้จ่าย ดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายตั้งแต่วันแรกที่เริ่มโครงการตลอดระยะเวลา 5 ปีในการก่อสร้าง ซึ่งน่าจะเป็นหลักหมื่นล้าน ต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของเงินลงทุนจนกว่าจะสร้างเสร็จและรถไฟสามารถวิ่งรับผู้โดยสารได้ จึงจะมีรายได้เข้ามา
ความเสี่ยงจากเทคโนโลยี ที่จะต้องคิดเป็นค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลา 50 ปี แน่นอนว่าเทคโนโลยีจะต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา แค่ค่าซ่อมค่าบำรุงอย่างเดียวก็หืดขึ้นคอแล้ว
...
ความเสี่ยงทางการเมือง ในช่วงใกล้เลือกตั้งอาจจะมีผลกระทบกับโครงการทั้งก่อนและหลังจากการเลือกตั้ง ความไม่แน่นอนด้านนโยบายของรัฐบาลในอนาคต และในความเป็นจริง เอกชนต้องจ่ายค่าเช่าบริเวณสถานีมักกะสันเป็นเวลา 50 ปี ซึ่งก็มีความเสี่ยงในเรื่องของการใช้พื้นที่และกรรมสิทธิ์ในพื้นที่
ทั้งนี้ ราคาค่าเช่าที่ดินบริเวณสถานีมักกะสัน จากราคาประเมินโดย ที่ปรึกษาของ รฟท. ยึดราคาที่ดินแปลงใหญ่รอบพื้นที่มักกะสัน ทำให้ราคาประเมินอยู่ที่ 6 แสนบาทต่อตารางวา ในระยะเวลา 50 ปี ผู้เช่าจะต้องจ่ายให้ รฟท. ถึง 5 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงและเป็นภาระของผู้ประกอบการในระยะยาว
ความเสี่ยงจากโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ที่มีการเข้าใจว่าโครงการดังกล่าวมีมูลค่า 4 หมื่นล้าน แต่เอกชนจ่ายเงินให้เพียง 1.3 หมื่นล้าน ทั้งๆที่แอร์พอร์ตลิงก์ในปัจจุบันมีหนี้สินอยู่ถึง 33,229 ล้านบาท เฉลี่ยขาดทุนปีละประมาณ 300 ล้านบาท เท่ากับว่ามูลค่าของแอร์พอร์ตลิงก์จริงๆ เหลือเพียง 6 พันกว่าล้านบาทเท่านั้น ภาระการปรับปรุงแอร์พอร์ตลิงก์ไปตกอยู่กับเอกชน แต่เมื่อตั้งใจที่จะให้โครงการนี้เป็นอภิมหาโปรเจกต์ของประเทศไทยก็ต้องเดินหน้าให้ถึงที่สุด.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th