พูดถึงโครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ วัดพระบาทน้ำพุ อ.เมือง จ.ลพบุรี หลายคนน่าจะทราบดีอยู่แล้วว่า สถานที่ดังกล่าวเปรียบเสมือนเอดส์โซน  หรือแหล่งพักพิงท้ายสุดของผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้ายขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย

วันนี้โครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ วัดพระบาทน้ำพุ ได้แตกหน่อขยายกอออกไปตั้งเป็น วัดธรรมรักษ์นิเวศน์ ขึ้นมาอีกแห่ง

อารามแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ ต.ดงดินแดง อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดลพบุรีไปประมาณ 80 กิโลเมตร

หากภารกิจหลักของวัดพระบาทน้ำพุ อยู่ที่การสงเคราะห์ผู้ป่วยเอดส์ ระยะสุดท้าย ก็น่าจะเทียบเคียงได้ว่า ภารกิจหลักของวัดธรรมรักษ์นิเวศน์ ไม่ต่างจากแหล่งพักพิงระยะสุดท้ายของคนชราผู้อาภัพลูกอาภัพหลาน

อ่านถึงตรงนี้บางท่านอาจเกิดคำถามแย้งในใจ ลำพังผู้ป่วยเอดส์มากมาย ก่ายกองที่วัดพระบาทน้ำพุดูแลอยู่เวลานี้ ยังไม่พอหรือไร ไฉนพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระอุดมประชาทร หรือหลวงพ่ออลงกต พ่อพระของชาวเอดส์ ถึงได้ขยันหาภาระเพิ่ม...

ประเด็นนี้ เฉลิมพล พลมุข หนึ่งในผู้บริหารมูลนิธิธรรมรักษ์ มีคำอธิบาย

เขาบอกว่า สถานการณ์ผู้สูงอายุ หรือคนชราเมืองไทยในระยะ 10 ปีมานี้ พบว่าแต่ละปีมีจำนวนคนชราเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ถึงกับคาดประมาณกันไว้ว่าปีที่แล้ว หรือเมื่อปี 2553 น่าจะมีคนชราทั่วประเทศ ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 16% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

นิยามความหมายของคำว่า "คนชรา" หมายถึง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

เฉลิมพลบอกว่า ปัญหาของคนชรายุคนี้ ไม่ต่างจากก้อนน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ ทั้งที่มีปัญหามากมาย แต่ส่วนที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำให้เห็นนั้น ดูเหมือนมีน้อยนิด

ความจริงสังคมไทยมีปัญหาคนชรามานานแล้ว แต่บางช่วงขณะรัฐบาลหรือภาครัฐไม่ให้ความสนใจ หรือใส่ใจในคุณภาพชีวิตเท่าที่ควร

"ผมมีโอกาสได้เข้าไปพบปะใกล้ชิดกับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆในสังคมไทยบ่อย ไม่ว่าจะเป็นคนปัญญาอ่อน ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต คนพิการ รวมถึงคนชราที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง ทั้งตามชนบทและชุมชนแออัดในเมือง ทุกหนทุกแห่งล้วนมีผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ซุกตัวอยู่ในบ้านทั้งนั้น"

เฉลิมพลบอกว่า บางบ้านเป็นที่รู้กันของเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียง แต่บางบ้านผู้ด้อยโอกาสต่างต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างปกปิด แม้แต่คนข้างบ้านเองก็ยังไม่รู้

"ผู้สูงอายุหลายคนที่ผมเคยเข้าไปสัมผัสและให้การช่วยเหลือ บางครอบครัวลูกหลานต้องจับผู้เป็นพ่อ แม่ หรือปู่ ย่า ตา ยายของตัวเองซึ่งมีอาการอัลไซเมอร์ หลงๆลืมๆล็อกกุญแจขังเอาไว้ ผู้สูงอายุบางรายเมื่อได้พบเห็นเป็นที่น่าเวทนามาก ถึงกับนำอุจจาระมาป้ายทาตามเนื้อตัว เพราะไม่รับรู้ถึงการกระทำของตนเอง"

เขาบอกว่า บางบ้านใช้วิธีตีลูกกรงด้วยไม้ไผ่ ขังบุพการีของตัวเองไว้ บริเวณบ้าน ราวกับเป็นสัตว์เลี้ยง บางบ้านนำไปขังไว้ในห้องที่มิดชิด เพราะไม่ต้องการให้ใครมาเห็น จนกว่าตัวเองจะกลับจากที่ทำงาน คนชราจึงเป็นอิสระ

เฉลิมพลบอกว่า ที่หนักกว่านั้นลูกหลานของคนชราบางครอบครัว ถึงกับลงมือทำร้ายทุบตีบุพการีของตน หรือใช้คำพูดด่าทอที่หยาบคายรุนแรง

เขาบอกว่า นอกจากคนชราที่ใช้ชีวิตอยู่ตามบ้านอย่างไร้ผู้ดูแล ยังมีคนชราอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่กับลูกหลานตามบ้าน

"เห็นแล้วน่าเวทนามาก บางคนผมเคยไปเก็บและนำตัวมาจากข้างกำแพงวัด บางคนนั่งอยู่ตามสถานีรถไฟ สถานีขนส่ง สวนสาธารณะ และอีกหลายๆสถานที่อย่างไร้จุดหมาย"

"มีบ้างเหมือนกันที่ลูกหลานซึ่งดูแลผู้สูงอายุบางราย เห็นว่าเกินกำลังตัวเองที่จะดูแล พยายามติดต่อไปตามสถานสงเคราะห์คนชราของรัฐ แต่ปรากฏว่าหลายแห่งปฏิเสธอย่างมีท่าที เช่น สถานที่เต็ม ช่วงนี้ยังไม่มีห้องว่าง หรือถึงมีเตียงว่างให้เห็นตำตา แต่ก็อ้างว่ามีคิวจองยาวเหยียด รับตัวไว้ไม่ได้ หรือแม้แต่ บางแห่งรู้กันว่าต้องมีการจ่ายเงิน จึงจะมีโอกาสได้นำคนชราเข้าไปอยู่ เป็นต้น"

เฉลิมพลบอกว่า ต้องยอมรับความจริงว่า คนชราบางรายก็มีปัญหาที่ยากจะแก้ไข หรือติดนิสัยเดิมที่ผ่านมาเป็นเวลานาน เช่น เอาแต่ใจตนเอง ใจร้อนวู่วาม ดื้อรั้น บางคนอาจติดเหล้า บุหรี่ หรือยาเสพติด จนไม่สามารถอยู่ร่วมกับสมาชิกอื่นในครอบครัวได้ด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง กระทั่งคนในครอบครัวต้องหาทางส่งไปอยู่ที่อื่น

และแม้ว่าปัจจุบันมีสถานที่ดูแลคนชราของเอกชน ทั้งในรูปรีสอร์ต หรือโรงพยาบาลซึ่งให้บริการที่สมบูรณ์แบบ แต่อย่าลืมว่าการจะเข้าไปอยู่ในสถานที่เหล่านั้นได้ ตัวผู้สูงอายุเอง หรือบุตรหลานจะต้องมีฐานะที่ดีพอ จึงจะสามารถเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่เหล่านั้นได้จนถึงวาระสุดท้าย

รวมความแล้วเวลานี้สถานสงเคราะห์คนชราในเมืองไทย ส่วนใหญ่ ไม่สามารถรองรับประชากรสูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เฉลิมพลบอกว่า ด้วยเหตุนี้หลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระอุดมประชาทร จึงเห็นว่า หากวัดและพระสงฆ์ไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ แล้วใครจะช่วยให้คนเหล่านั้นมีที่อยู่ ที่กิน และที่ตายอย่างเหมาะสม

จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการดูแลคนชราผู้อาภัพ หรือไร้ที่ พึ่งพิง ณ วัดธรรมรักษ์นิเวศน์ จ.ลพบุรี

สถานที่ดังกล่าวแบ่งออกเป็นหอดูแลคนชราซึ่งช่วยตนเองได้น้อย และที่ช่วยตัวเองได้

กลุ่มคนชราที่ช่วยตัวเองได้น้อย เช่น คนชราที่ตาบอด แขนขาไม่มีแรง เป็นอัลไซเมอร์ หรือมีปัญหาระบบขับถ่าย จะมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครคอยดูแลทั้งในด้านสุขภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี และยังมีระบบบริการสุขภาพที่เชื่อมโยงกับหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลหนองม่วง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐ

ส่วนคนชราที่ช่วยเหลือตนเองได้ เช่น สามารถเดินได้ กินข้าวเองได้ ทางวัดฯจะมีกิจกรรมในแต่ละวันให้ทำ เช่น ตื่นขึ้นมาเก็บที่นอน ทำความสะอาดบริเวณสถานที่ รดน้ำต้นไม้ ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย รับประทานอาหาร มีกิจกรรมฟังธรรมะ ฟังหรือเล่นดนตรีบำบัด ดูหนังฟังเพลง และเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม พูดคุยกัน เป็นต้น

เฉลิมพลบอกว่า ที่จริงการดูแลคนชราไม่ใช่เรื่องยากเย็น ขอแค่ผู้ดูแลมีจิตใจที่อาสาให้ความช่วยเหลือ มีความเข้าใจ หรือเห็นอกเห็นใจเป็นทุนเดิม ช่วยรับรู้ความทุกข์หรือความในใจบางอย่าง พูดคุยให้กำลังใจบ้าง เท่านี้คนชราหลายคนก็เป็นสุขแล้ว

"ที่วัดธรรมรักษ์นิเวศน์ มีกรณีตัวอย่างประสบการณ์ชีวิตของคนชราที่ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชนหลายเรื่อง ผมสังเกตดูว่า ท่านเหล่านั้นหลายคนเป็นผู้มีภูมิรู้ดี มีความสามารถหรือประสบการณ์ในอดีตสูง บางคนเก่งในศาสตร์ต่างๆอย่างยากจะหาตัวจับ"

"ยังเคยคิดเล่นๆว่า ถ้าคนรุ่นหลังหรือลูกหลานของคนชราเหล่านั้น รู้จักเก็บเกี่ยวศาสตร์ต่างๆ หรือองค์ความรู้ที่หลากหลายจากผู้สูงวัยเหล่านั้น แล้วรวบรวมนำไปต่อยอดใช้ในหลายๆเรื่อง จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล แต่น่าเสียดายที่เวลานี้ชีวิตของคนชราเหล่านั้น ถูกคนมองข้ามว่าเป็นชีวิตที่ไร้ความหมาย ทำอะไรไม่ได้ และใกล้จะหมดลมหายใจ"

ข่าวดีก็คือ เวลานี้วัดธรรมรักษ์นิเวศน์ อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี กำลังเตรียมความพร้อมหลายๆด้าน เพื่อก้าวไปสู่การเป็นสถานที่ดูแลคนชราขนาดใหญ่อย่างครบวงจรเต็มรูปแบบอีกแห่งของเมืองไทย

เฉลิมพลบอกว่า ถ้าไม่ติดขัดปัญหาใด คาดว่าภายใน พ.ศ.2554 หรือไม่เกินปีนี้ หากการวางระบบต่างๆเสร็จสมบูรณ์ทุกส่วน ทางวัดธรรมรักษ์นิเวศน์สามารถรองรับให้คนชราเข้าไปอยู่ได้เต็มที่ประมาณ 500 คน (ปัจจุบันมีคนชราบางส่วนเข้าไปอยู่บ้างแล้ว)

โดยเปิดโอกาสให้คนชราจากทั่วประเทศ ซึ่งมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย อาหารการกิน สุขภาพร่างกาย หรือผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายเพื่อรอวันตายดี ได้ไปใช้ชีวิตอย่างที่คาดหวังที่นั่น

สุดท้ายเฉลิมพลฝากประชาสัมพันธ์ว่า

"สำหรับผู้ที่มีอาชีพเป็นหมอ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรืออาชีพอื่นที่มีจิตใจอาสา ต้องการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือทางวัดเป็นประจำหรือครั้งคราว ทางวัดธรรมรักษ์นิเวศน์มีอาหาร และที่พักให้ฟรี และยินดีเปิดโอกาสให้ท่านได้ทำกุศลอันยิ่งใหญ่ มอบให้แก่คนชราทุกเมื่อ".

...