ในที่สุด โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ฉลองสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 130 ปี ที่ตั้งไข่มาตั้งแต่ปี 2558 ก็ได้ข้อสรุปออกมาเรียบร้อยแล้ว ทางการญี่ปุ่นส่งผลการศึกษามาให้ฝ่ายไทยแล้ว คุณวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟฯ เปิดเผยว่า ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. วงเงินลงทุน 270,000 ล้านบาท ผลการศึกษาของญี่ปุ่นพบว่า ไม่คุ้มค่าการลงทุน มีผู้โดยสารเฉลี่ยเพียงวันละ 10,000-20,000 คนเท่านั้น ถ้าจะให้คุ้มทุน ต้องมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 30,000 คน ถ้าจะให้มีกำไร ต้องมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 40,000-50,000 คน
คุณชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ก็ให้สัมภาษณ์ว่า สนข. ได้รวบรวมข้อมูลที่ทางญี่ปุ่นศึกษาเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว เหลือเพียงนโยบายรัฐบาลว่าจะเร่งผลักดันหรือไม่ ส่วนเรื่องเงินลงทุน ญี่ปุ่นยังไม่ยืนยันว่าจะเข้าร่วมลงทุนหรือไม่ ระบุแต่เพียงว่า ขอเป็นส่วนช่วยในการจัดทำแผน เท่านั้น
ผมไม่แปลกใจที่ รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ร่วมลงทุนด้วย เพราะเป็นผู้ศึกษาโครงการเอง ย่อมเห็นตัวเลขในทุกมิติ ไม่คุ้มค่าการลงทุน แม้จะมีที่ดินตามสถานีรายทางให้ค้าเชิงพาณิชย์ก็ตาม ผมลองคิดบัญญัติไตรยางศ์เล่น รถไฟขบวนละ 8 ตู้ บรรทุกผู้โดยสารได้ขบวนละ 600 คน ถ้า จุดคุ้มทุน ต้องมีผู้โดยสารวันละ 30,000 คน ก็ต้องวิ่งวันละ 50 เที่ยว จะให้ มีกำไร ต้องมีผู้โดยสารวันละ 40,000-50,000 คน ก็ต้องวิ่งวันละ 66-83 เที่ยว กรุงเทพฯ-พิษณุโลก จะมีผู้โดยสารมากขนาดนั้นหรือไม่
ปลายปี 2560 ทางการญี่ปุ่นเคยส่งผลการศึกษามาให้รัฐบาลไทย ดูครั้งหนึ่งแล้ว รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ความเร็ว 250 กม.ต่อชั่วโมง ต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า 400,000 ล้านบาท เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นตัวเลขเงินลงทุน ก็สั่งให้ไปดูความคุ้มค่าการลงทุน
...
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์ว่า เบื้องต้นให้มีการปรับลดความเร็วลงจาก 250 กม.ต่อชั่วโมง เป็นความเร็วปานกลาง 180–220 กม.ต่อชั่วโมง เพื่อลดค่าใช้จ่าย และให้สามารถดำเนินการได้ในปี 2561 ก่อนการเลือกตั้ง
รายงานล่าสุด ผลการศึกษาของญี่ปุ่นครั้งที่สอง ก็ระบุว่า ไม่คุ้มค่าการลงทุน แค่ช่วงแรก กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. ต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 276,000 ล้านบาท ถ้าเต็มโครงการ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ คิดง่ายๆเอาสองคูณ ต้องใช้เงินลงทุนถึง 552,000 ล้านบาท คงไม่ต้องไปคิดใหม่ให้ปวดหัวว่าจะลงทุนหรือไม่ เพราะมีแต่เจ๊งกับเจ๊งแน่นอน
แม้ผมจะไม่ใช่นักวิชาการ คำนวณการลงทุนไม่เป็น แต่เมื่อทางการญี่ปุ่นศึกษามาสองรอบแล้ว และเป็นโครงการที่ญี่ปุ่นได้ประโยชน์ ใช้ระบบเดินรถญี่ปุ่น ใช้ขบวนรถไฟและโดยสารญี่ปุ่น ยังฟันธงว่า ไม่คุ้มค่าการลงทุน เมื่อสร้างเสร็จในอีก 5-6 ปีข้างหน้า จะมีผู้โดยสารเฉลี่ยแค่วันละ 10,000-20,000 คน ผมก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะเอาเงิน 276,000 ล้านบาทไปทิ้งน้ำและสร้างหนี้สินในระยะยาวต่อไปทำไม
โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. ความเร็ว 250 กม.ต่อชั่วโมง เงินลงทุน 179,000 ล้านบาท ผมก็เชื่อว่าไม่ต่างไปจากเส้นทางสายเหนือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก แต่สายโคราชอาจจะขาดทุนหนักกว่า เพราะวิ่งด้วยความเร็วสูงกว่าที่ 250 กม.ต่อชั่วโมง
ไม่เพียงแค่นี้ เรายังมี รถไฟความเร็วสูง 250 กม.ต่อชั่วโมง วิ่งเชื่อม 3 สนามบิน อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ–ดอนเมือง ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 220,000 ล้านบาท ในรูปแบบ PPP ร่วมทุนกับเอกชน โดยรัฐบาลจ่ายค่างานโยธาและวางรางให้เสร็จสรรพ 113,000 กว่าล้านบาท ผมก็เชื่อว่าจะขาดทุนแน่นอน ระยะทาง 220 กม. มี 10 กว่าสถานี แต่วิ่งด้วยความเร็ว 250 กม.ต่อชั่วโมง ไม่รู้จะได้วิ่งในช่วงไหน แค่ออกรถไม่กี่นาทีก็ต้องจอดแล้ว รัฐบาลใช้เงินลงทุนเว่อร์ไปหรือเปล่า แค่ 160 กม.ต่อชั่วโมง เท่ากับ แอร์พอร์ตลิงก์ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว.
“ลม เปลี่ยนทิศ”