สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท-TOT ยื่น ปชป.ช่วยตรวจสอบ-คัดค้านมติ ครม.โอนทรัพย์สินโครงข่ายโทรคมนาคมให้เอกชน

เมื่อวันที่ 10 เม.ย.61 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับมอบหนังสือจาก นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และนายภัคพงษ์ ชิ้นปิ่นเกลียว กรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที จำกัด ที่เข้ายื่นหนังสือเรื่องขอคัดค้านการแปรรูป บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แนวคิดเรื่องโครงข่ายไม่ควรที่จะมีข้อโต้แย้งกัน รัฐจะต้องเข้ามาดูแลกำหนดกติกาการใช้โครงข่าย โดยมีผู้เล่นจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือเอกชนก็ว่ากันไป แต่เนื่องจากตัวโครงข่ายโดยตัวของมันเอง ก็เป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่จะไปปล่อยให้คนอื่นเข้ามา ตรงนี้คงจะเห็นตรงกัน ตนได้ติดตามดูทราบว่า ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตั้งกรรมการและคณะทำงานขึ้นมา เสมือนกับว่ายอมรับว่า การที่จะไปดำเนินการทั้งหมดนี้ มติ ครม.ต้องไปทำ 4 เรื่อง แต่มีอยู่ 3 เรื่อง ที่ยังไม่ดำเนินการ เขาจึงได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา ตนก็ได้สอบถามไปว่า ขณะที่ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อที่จะทำตามเงื่อนไขในเรื่องของธุรกิจนั้น แล้วทำไมถึงไปมีมติเรื่องการถือหุ้น เพราะการมีมติผู้ถือหุ้นนั้น ไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลา ว่าจะมาทำขั้นตอนไหนเสร็จก่อน ตนยังถามต่อไปอีกว่า หากมีการทำแผนธุรกิจไปแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ เขาก็ตอบว่าได้ ตนได้ถามเหมือนกับที่พวกคุณมายื่นเรื่องว่า ทำไมถึงรีบไปมีมติ เขาก็บอกว่าไม่ทราบ เพราะเป็นคนละหน่วยงานกัน

"เขายังยืนยันหนักแน่นว่า ไม่มีการปล่อยให้มีการแปรรูป และอย่างไรก็ตามอยากให้พวกเรามาลองคิดดูว่า ถ้าจะมีส่วนร่วมควรจะมาคิดกันว่า แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงข่ายทาง TOT และ CAT ควรจะร่วมมือกันอย่างไร หากเรามีรูปแบบให้เกิดความมั่นใจว่า จะไม่มีการนำโครงการไปให้เอกชนหรือจะมีแนวทางในแง่ของธุรกิจ ในการปรับปรุงประสิทธิภาพก็ว่ากันไป แต่ควรที่จะแยกออกจากการให้บริการ ผมคิดว่าเป็นแนวทางที่จะเดินได้ แต่เข้าใจว่ามีแนวคิดเรื่องของข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนด้วย อยากให้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

...

ด้านประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท กล่าวว่า พนักงานทั้ง 2 แห่ง พร้อมร่วมปฏิรูปองค์กร รัฐควรกำหนดแนวทางกำกับให้ชัดเจน แต่ไม่ใช่เป็นการโอนทรัพย์สินโครงข่ายทั้งหมดไปให้กับเอกชน ที่เรียกว่าบริษัทลูก ขอให้อดีตนายกฯ ช่วยกันตรวจสอบหรือให้ครม.ระงับตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอเป็นการกระทำขัดต่อกฎ ระเบียบ กฎหมาย และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมิให้เป็นผลกระทบในอนาคต

นอกจากนี้ คณะทั้งหมดได้ยื่นคัดค้านการจัดตั้งบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC Co) และบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co) และขอให้พิจารณาตรวจสอบเพื่อระงับหรือชะลอการโอนทรัพย์สิน ที่เป็นโครงข่ายหลักของทั้งสองรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการขัดต่อกฎหมาย และขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี นอกจากนั้นยังเป็นการเข้าข่ายโอนทรัพย์สินโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมทั้งหมด ไปให้กับบริษัทลูกประกอบธุรกิจแทน

ด้านตัวแทนบริษัททีโอที กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือให้กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการคลัง และที่ทำเนียบรัฐบาลแต่ทุกฝ่ายไม่มีผู้ใดรับฟัง กลับมีเจตนาในการที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนในอนาคต จึงมาขอความช่วยเหลือจากนายอภิสิทธิ์ นอกจากนั้นจึงขอความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย เกี่ยวกับคำฟ้องและการยื่นในนามของภาคประชาชน ในการคัดค้านการโอนอุปกรณ์โครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งเป็นทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไปให้กับบริษัทลูกที่มีสภาพเป็นเพียงนิติบุคคล ที่มีเอกชนร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย