ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของเราแม้จะมีกฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์ไว้อย่างรัดกุมระบุให้มีราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ไว้อย่างชัดเจนแล้วก็ตาม
ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงกลับปรากฏว่ามีหน่วยงานของกรมและกระทรวงต่างๆไปตั้งสำนักงานอยู่ในส่วนภูมิภาคจังหวัดโน้นจังหวัดนี้แต่ประกาศว่าเป็น หน่วยงานของส่วนกลาง ไม่ขึ้นกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เป็น หัวหน้ารับผิดชอบในส่วนภูมิภาคในรูปของ จังหวัด
อย่างหน่วยงานของ กระทรวงการคลัง มีเพียง คลังจังหวัด ตัวแทน กรมบัญชีกลาง หน่วยเดียวเท่านั้นที่เป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคขึ้นกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด นอกนั้นทั้ง สรรพากร สรรพสามิต ธนารักษ์ (ราชพัสดุจังหวัดเดิม) ที่เคยเป็นส่วนภูมิภาคในรูป สรรพากรจังหวัด สรรพสามิตจังหวัด ราชพัสดุจังหวัด (ตัวแทนกรมธนารักษ์) ต่างประกาศอิสรภาพเป็น สรรพากรพื้นที่ สรรพสามิตพื้นที่ ธนารักษ์พื้นที่ ไม่เกี่ยวไม่ข้องกับจังหวัดแต่รายงานตรงยังกรมเจ้าสังกัดในส่วนกลางอย่างเดียว แถมในหลายจังหวัดมีหลายสาขาเสียด้วย
เวลามีปัญหาอะไรในจังหวัดถ้าตัวผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ใช่มือประสานสิบทิศบางทีก็โกลาหลเหมือนกัน
มาดูกันหน่อยว่า หน่วยงานส่วนกลาง ที่ตั้งอยู่ใน ส่วนภูมิภาค นั้นมีอะไรกันบ้าง จากข้อมูลที่ สำนักงาน ก.พ.ร. รวบรวมไว้ระบุว่า
ส่วนราชการที่มีเฉพาะ หน่วยงานส่วนกลาง ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคมีทั้งสิ้น 35 กรม ประกอบด้วย
1.สำนักนายกรัฐมนตรี (3 กรม) คือ สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาค สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ สำนักงบประมาณ ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาค สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
2.กระทรวงการคลัง (4 กรม) สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ กรมธนารักษ์ สำนักงานศุลกากรภาค ด่านศุลกากร สำนักงานศุลกากรฯ กรมศุลกากร สำนักงานสรรพสามิตภาค สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่สาขา กรมสรรพสามิต สำนักงานสรรพากรภาค สำนักงานสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา กรมสรรพากร
...
3.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (6 กรม) สำนักงานชลประทานที่ ...กรมชลประทาน สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่.....กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต กรมพัฒนาที่ดิน สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ กรมหม่อนไหม
4.กระทรวงคมนาคม (4 กรม) สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่.....กรมเจ้าท่า ท่าอากาศยาน กรมท่าอากาศยาน สำนักงานทางหลวงที่..... แขวงทางหลวง กรมทางหลวง สำนักงานทางหลวงชนบทที่.....แขวงทางหลวงชนบท กรมทางหลวงชนบท
5.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (4 กรม) สำนักทรัพยากรน้ำภาค กรมทรัพยากรน้ำ สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่......กรมป่าไม้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ยังมีอีกหลายกรมหลายกระทรวงที่มีหน่วยงานส่วนกลางไปตั้งอยู่ในจังหวัดซึ่งเป็นส่วนภูมิภาคแต่ไม่ยอมขึ้นกับจังหวัด.
“ซี.12”