นายกฯ ชี้ไทยก้าวสู่ประเทศดิจิทัลเต็มรูปแบบ ผุดโครงการเน็ตประชารัฐ ขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ครอบคลุมเกือบ 3 หมื่นหมู่บ้าน ทั่ว 77 จว. ปลื้มทำสถานีเคเบิลใต้น้ำปากบารา จ.สตูล สำเร็จ เผยเป็นการตัดสินใจตั้งแต่ปี 57 ที่เข้ามาเป็นหัวหน้า คสช.
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 60 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล จังหวัดสตูล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดใช้งานเน็ตประชารัฐทั่วประเทศ และเปิดบริการเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ ระบบ Asia–Africa–Europe–1 (AAE-1) โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมในพิธีเปิด มีประชาชนรอให้การต้อนรับประมาณ 4000 คน ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาตลอดเวลา
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อก้าวไปสู่โมเดลใหม่ ประเทศไทย 4.0 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยรัฐบาลได้ขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือโครงการเน็ตประชารัฐ เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายใน สร้างโอกาส สร้างรายได้ ต่อยอดการใช้ประโยชน์ทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณสุข และสังคม พร้อมลงทุนสร้างเคเบิลใต้นำระหว่างประเทศระบบ Asia–Africa–Europe–1 (AAE-1) โดยเป็นระบบเคเบิลใต้น้ำความจุสูงระบบแรกที่มีเส้นทางหลักผ่านประเทศไทย เพื่อพัฒนาโครงข่ายระหว่างประเทศเชื่อมไทยสู่ทั่วโลก ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของภูมิภาค ASEAN Digital Hub
...
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากนี้ไปประเทศไทยได้ก้าวสู่ประเทศดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยมีพรมแดนเชื่อมต่อกับประเทศเศรษฐกิจกิจสำคัญ ทั้ง สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน และเวียดนาม เป็นประตูสู่ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้ง เมียนมา ลาว กัมพูชา โดยนอกจากประเทศไทยกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ผ่านโครงการขนาดใหญ่เป็นถนนที่เชื่อมโยงประเทศไทยกับนานาประเทศในภูมิภาค อาทิ ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ หรือ North-South Economic Corridor ระเบียงเศรษฐกิจใต้ หรือ Southern Economic Corridor และระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor แล้ววันนี้ ประเทศไทยได้ก้าวสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตที่สำคัญ ด้วยโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม หรือโครงการเน็ตประชารัฐ ด้วยการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 24,700 หมู่บ้านสู่ 5 ภูมิภาคเหนือ-ใต้-ออก-อีสาน-กลาง ทั่วประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายในตามแนวคิด "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" และการลงทุนสร้างเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบ Asia–Africa–Europe–1 (AAE-1) ความยาวถึง 25,000 กิโลเมตร โดยเป็นระบบเคเบิลใต้น้ำความจุสูงระบบแรกที่มีเส้นทางหลักผ่านประเทศไทย ความยาวถึง 25,000 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่สำคัญของโลก เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอเชียตะวันออก แอฟริกา และยุโรป นำประเทศสู่ศูนย์กลางด้านการสื่อสารของภูมิภาค ASEAN Digital Hub รองรับการใช้งานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มความแข็งแกร่งในยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลของประเทศ สนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ทั้งนี้ โครงการเน็ตประชารัฐ เป็นการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสื่อสัญญาณสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx) ครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมายจำนวน 24,700 หมู่บ้าน ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสนับสนุนชุมชนทั่วประเทศ ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เกิดประโยชน์เต็มศักยภาพ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านบริการภาครัฐ และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เติบโตจากการใช้ประโยชน์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ตั้งแต่ประกอบอาชีพ การเรียนรู้ ค้าขาย ทำมาหากิน ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ไปจนถึงเพิ่มช่องทางการขาย เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและเร็วขึ้น เพิ่มความสะดวก ลดเวลา ลดข้อจำกัด และเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อให้ในที่สุด "ทำน้อยแต่ได้มาก" นำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและรอบด้าน เป็นสังคมไทย 4.0 มีความเท่าเทียมในสังคม เป็นคนไทย 4.0 ที่มีโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม เป็น เกษตรกร 4.0 เกษตรกรสมัยใหม่ Smart Farmers ที่บริหารจัดการดี ต้นทุนการผลิตต่ำ เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรจากการแปรรูป เป็น SME 4.0 ที่มีความสามารถทางการค้าขาย เข้าถึงตลาดในประเทศ ตลาดอาเซียน และตลาดโลก และเกิด จังหวัด 4.0 ที่มีการกระจายความเจริญทั่วประเทศ เศรษฐกิจขยายตัว ชุมชนเข้มแข็งนำคนกล้าคืนถิ่นฐานบ้านเกิด ทั้งนี้ ปัจจุบัน เน็ตประชารัฐได้ติดตั้งแล้วเสร็จ จำนวน 16,375 หมู่บ้าน (ณ 26 กันยายน 2560) คิดเป็นร้อยละ 66.29 แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 13,435 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 9,007 หมู่บ้าน ภาคเหนือ จำนวน 4,398 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 2,761 หมู่บ้าน ภาคใต้ จำนวน 4,398 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 2,287 หมู่บ้าน ภาคกลาง จำนวน 2,072 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 1,348 หมู่บ้าน ภาคตะวันออก จำนวน 1,542 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 913 หมู่บ้าน กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 81 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 59 หมู่บ้าน โดยในปี 2561 จะครอบคลุมหมดทุกหมู่บ้าน
จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เดินทางต่อไปสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล เพื่อทำพิธีเปิดสถานี ทั้งนี้ถือเป็นแลนด์บริดจ์เชื่อมต่อการสื่อสารเอเซียและยุโรป เป็นระบบเคเบิลใต้น้ำเส้นแรกที่ทำให้ไทยเชื่อมต่อโดยตรงไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่สำคัญของโลกไปยังประเทศในภูมิภาคต่างๆรวม 17 ประเทศ ทั้งนี้นายกฯได้เสนอแนะให้ลองคิดแผนยุทธศาสตร์วางไปถึง 20 ปีว่าจะทำให้เกิดโครงการต่อไปอย่างไร สำคัญต้องทำความเข้าใจกับเอ็นจีโอ จากนั้นนายกฯได้วางมือกดปุ่มเปิดสถานีและได้คว้าไมค์มากล่าวว่า "เข้ามาเป็นหัวหน้าคสช.ในปีแรก มีการเสนอแผนนี้มา ผมก็ใช้ความคิดอันไม่ฉลาดของผม มองว่าดีนี้หว่า เลยให้ทำ ใช้คำสั่งคสช.ทำจนเสร็จ และดี ส่วนที่ไม่ดี ยังไม่เสร็จมีอยู่บ้าง ก็ให้กำลังใจกันให้ทำกันต่อ ไม่ใช่ด่าคสช. ด่านายกฯทุกเรื่อง ที่ทำสำเร็จลืมกันไปหมดแล้ว ลืมง่ายนะคนไทย"จากนั้นนายกฯได้เยี่ยมชมสถานี
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจที่จ.สตูล พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ ได้เดินทางไปรับประทานอาหารกลางวัน ที่ที่ว่าการอำเภอละงู กระทั่งเวลา 15.00 น.พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งให้ปรับแผนการเดินทางเล็กน้อย จากที่จะเดินโดยเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอกไปเป็นเดินทางโดยรถตู้อัลพาร์ต สีดำ หมายเลขทะเบียน 9999 สงขลา กลับไปขึ้นเครื่องที่ บน.56 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อเดินทางกลับกรุงเทพ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยเนื่องจากสภาพอากาศปิดทัศนวิสัยไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางทำให้กำหนดการเดินทางคณะของนายกฯต้องเลื่อนออกไปประมาณ 50 นาที