นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์

ปชป.สะดุ้ง คณะกรรมการพิจารณาแก้ รธน.ชุด "สมบัติ ธำรงธัญวงศ์"  ชงเปลี่ยนวิธีเลือกตั้ง ส.ส. ตาม รธน.ปี 40 ทั้งแบบเขต-ปาร์ตี้ลิสต์ พร้อมเสนอผู้สมัคร ส.ส. ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง เล็งผ่าตัดโครงสร้างตำรวจ ให้โละชั้นยศทิ้ง ...

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปการเมือง และการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายหลังการประชุม นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ แถลงว่า คณะกรรมการฯมีมติเรื่องที่มาของ ส.ส. ตามมาตรา 93-94 ของรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่า ควรมี ส.ส.จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.ระบบแบ่งเขต 375 คน แบบบัญชีรายชื่อ 125 คน เพื่อให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากขึ้น และจำนวน ส.ส.ในสภามีไม่มากเกินไป โดยระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ให้กลับไปใช้ระบบเขตเดียวเบอร์เดียว เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อให้เห็นว่า ส.ส.เป็นตัวแทนของประชาชนเขตนั้นจริงๆ

ส่วนการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ ก็ให้หันกลับไปใช้รูปแบบบัญชีรายชื่อเดียวทั่วประเทศ ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เช่นกัน ไม่ต้องมีการแบ่งกลุ่มเป็น 8 จังหวัดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่ควรจะแบ่งภาค ทำให้เกิดความเป็นภูมิภาคนิยมซ้ำซ้อน แต่ควรให้โอกาสผู้มีความรู้ ความสามารถเหมาะสม แต่ไม่มีฐานเสียงในพื้นที่ ได้มีโอกาสมาทำหน้าที่เป็น ส.ส. เพื่อให้ได้คนที่มีวิสัยทัศน์กว้างในระดับประเทศมากขึ้น นอกจากนี้การกำหนดเป็น 8 กลุ่มจังหวัดนั้น มีการคลาดเคลื่อนของจำนวนประชากรในแต่ละกลุ่มมาก ส่วนการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ ที่จะนำมาคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ก็ไม่ควรกำหนดเกณฑ์ เพราะการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบมากแล้ว หากจำกัดพรรคเล็กด้วยการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละ 5 อีก ก็จะนำไปสู่ระบบสองพรรคแบบสมบูรณ์มากเกินไป ซึ่งขัดกับความต้องการให้มีความหลากหลายทางการเมือง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯจะเสนอนำข้อสรุปเรื่องที่มาของส.ส. ส่งให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

นายเจษฎ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการพิจารณาที่มาของ ส.ว.นั้น คณะกรรมการฯยังไม่ได้ข้อสรุป แต่คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เสนอว่า ควรมี ส.ว.150 คน แบ่งเป็น ส.ว.เลือกตั้ง 77 คน และ ส.ว.สรรหา 73 คน อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องวิธีสรรหา ส.ว.ว่า จะใช้วิธีการใด เช่น มีผู้เสนอให้ใช้วิธีจับสลาก ใครจับได้ก็ได้เป็น ส.ว. แต่ที่ประชุมเห็นว่า เหมือนเป็นวิธีเด็กเล่นมากเกินไป จึงให้ไปหาแนวทางอื่นมาพิจารณาประกอบต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการหารือถึงข้อเสนอเรื่องพรรคการเมืองว่า อาจให้ผู้สมัคร ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค และสมาชิกพรรคไม่จำเป็นฟังมติพรรค เพื่อให้พรรคการเมืองสร้างความเข้มแข็งขึ้นตามธรรมชาติ เพราะหากใช้มติพรรคกำกับ ที่สุดแล้วจะกลายเป็นการจัดสมาชิกพรรคเข้ากรงขังมากกว่า

สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลมีข้อเสนอว่า ควรจะให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลก่อน หากไม่สามารถจัดตั้งได้ จึงให้พรรคอื่นจัดตั้งรัฐบาลแทน นอกจากนี้ยังกำหนดให้แยกฝ่ายบริหารออกจากฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเด็ดขาด โดยกำหนดให้คนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีต้องลาออกจาก ส.ส.ก่อน อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้สมัคร ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคยังเป็นเพียงข้อเสนอในชั้นคณะอนุกรรมการฯเท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุปของคณะกรรมการชุดใหญ่

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาการปรับโครงสร้างตำรวจ โดยมีข้อเสนอให้โละชั้นยศ แล้วหันมาใช้การนับตำแหน่งเหมือนข้าราชการทั่วไป หรืออาจใช้การนับยศเหมือนต่างประเทศ เป็นนายสิบ นายร้อย นายพัน และนายพลแทน ส่วนการปรับโครงสร้างอัยการ มีข้อเสนอให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมกับการสืบสวนสอบสวนมากขึ้น โดยเฉพาะคดีที่มีโทษร้ายแรง หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนการปรับโครงสร้างศาล อาจจะให้มีการสรรหาแทนการสอบเข้าเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาที่อาจให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการสรรหา เข้ามาเป็นศาลอุทธรณ์ได้เลย

ผู้สื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อาจรับมติให้แก้เขตเลือกตั้งเป็นเขตเดียวเบอร์เดียวไม่ได้ นายเจษฎ์ กล่าวว่า เราไม่สนว่าพรรคไหนจะรับได้หรือรับไม่ได้ แต่เมื่อคุณขอให้เรามาทำ ก็ต้องรับฟังข้อเสนอของเรา เพราะการพิจารณาเรื่องต่างๆ ทำตามหลักวิชาการ การทำงานของคณะกรรมการฯดูว่าประเทศได้ประโยชน์อะไร.

...