ผลจากห้องแล็บชี้ น้ำทะเลหาดป่าตอง ภูเก็ต เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เนื่องจากปรากฏการณ์ แพลงก์ตอนบลูม ย้ำไม่มีอันตราย และยังเป็นผลดีต่อสัตว์น้ำ ขณะที่ ล่าสุดสีน้ำทะเลเร่ิมกลับมาดีขึ้นแล้ว...


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีน้ำทะเลหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหลายวันที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการชายหาด และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเริ่มกังวล ไม่ค่อยกล้าลงสัมผัสน้ำทะเล เนื่องจากมีหลายรายเริ่มมีอาการคันและมีตุ่มบวมตามผิวหนัง ต่อมานายศุภสิทธิ์ บุญเพียรผล นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ต พร้อมนักวิชาการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลและสาหร่ายที่เกยชายหาดกลับไปวิเคราะห์จำนวน 3 จุดตามแนวชายหาดป่าตอง ได้แก่ หน้าคลองปากบาง สะพานคอรัลบีช หลังป้อมตำรวจซอยบางลาและหน้าสวนสาธารณะโลมา ต.ป่าตอง อ.กะทู้ เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ในแล็บ เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มี.ค. นายศุภสิทธิ์ กล่าวว่า จากการที่เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญได้เก็บตัวอย่างน้ำทะเลทั้ง 3 จุดจากชายหาดป่าตอง อ.กะทู้ มาตรวจสอบในห้องแล็บ เบื้องต้นพบว่ามีแพลงก์ตอนพืชในกลุ่ม "คีโตเซอรอส" เป็นจำนวนมากอยู่รวมกับแพลงก์ตอนกลุ่มอื่นถึง 3 ชนิด โดยแพลงก์ตอนพืชชนิดนี้จะมีสีน้ำตาลอยู่รวมตัวกันเป็นจำนวนมาก หรือเกิดแพลงก์ตอนบลูม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้น้ำทะเลบริเวณดังกล่าวมีสีน้ำตาลเข้ม

ทั้งนี้ แพลงก์ตอนพืชในกลุ่ม "คีโตเซอรอส" นั้น เป็นแพลงก์ตอนที่มักเกิดการบลูมขึ้น ใกล้ชายฝั่งช่วงอุณหภูมิน้ำทะเล อากาศและแสงแดดที่เหมาะสม ไม่มีอันตราย เมื่อเกิดอาการบลูมจะเป็นผลดี เป็นอาหารให้สัตว์น้ำ เช่น ลูกปลา ลูกกุ้ง และจะค่อยๆ จางหายไปตามระยะเวลา ส่วนที่มีผู้ประกอบการหลายรายเกิดอาการคันนั้น ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดจากแพลงก์ตอน หรือปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบตัวอย่างน้ำอย่างละเอียด เพื่อแยกดูว่ามีธาตุอาหารใดอยู่บ้าง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจวิเคราะห์อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังผู้ประกอบการชายหาดป่าตอง ทราบว่าในวันนี้น้ำทะเลเริ่มกลับเป็นสีฟ้าและดีขึ้นตามลำดับ.

...