ดีเปรสชันตาลิมอ่อนกำลัง แต่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักติดต่อกัน 3 วัน ในพื้นที่ จ.ชุมพร เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน
วันที่ 19 ก.ค. 66 หลังจากที่พายุดีเปรสชัน “ตาลิม” บริเวณประเทศเวียดนามตอนบนได้ลดกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง และจะสลายตัวในระยะต่อไป แต่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ซึ่งทำให้มีฝนตกหนักติดต่อกัน 3 วัน ในพื้นที่ จ.ชุมพร เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่
โดยเฉพาะน้ำในคลองนาคราช ซึ่งเป็นคลองขุดใหม่ผันน้ำระบายลงสู่ทะเล เพิ่มสูงขึ้นและไหลแรงก่อนลงสู่ทะเล ทำให้ถนนที่ตัดผ่านคลองดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณหมู่ 6 ตำบลขุนกระทิง อ.เมือง จ.ชุมพร ถูกน้ำไหลเชี่ยวซัดขาดความยาวประมาณเกือบ 10 เมตร รถทุกชนิด และประชาชนไม่สามารถสัญจรผ่านได้
บริเวณถนนที่ถูกน้ำคลองซัดขาดกำลังจะมีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองผันน้ำคลองชุมพร (กม.3+500) ผิวจราจรกว้าง 8 เมตร ความยาว 114 เมตร เชื่อมต่อถนนก่อสร้างผิวคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 6 เมตร ไม่มีไหล่ทาง ความยาว 161 เมตร เริ่มสัญญาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 30 เมษายน 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 810 วัน วงเงินงบประมาณกว่า 25 ล้านบาท
...
ส่วนคลองชุมพรมีน้ำสูงขึ้นจากการไหลมารวมกันจากคลองอำเภอกระบุรี จ.ระนอง ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมคลองในเขตตำบลบ้านนา ตำบลขุนกระทิง และบางหมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลวังไผ่ อำเภอเมืองชุมพร ประชาชนขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ และสัตว์เลี้ยงให้อยู่บนที่สูง
ขณะเดียวกันบริเวณสะพานข้ามคลองชุมพรหน้าวัดพระขวาง ตำบลขุนกระทิง น้ำเพิ่มระดับสูงถึงตัวสะพานข้ามถนน อีกทั้งมีเศษสวะกิ่งไม้ ใบหญ้า และขยะจำพวกขวดน้ำพลาสติก กล่องโฟมใส่อาหาร ลอยมาติดอยู่กับคานสะพาน น้ำไม่สามารถไหลผ่านไปได้ นอกจากนั้นกระแสน้ำได้ไหลเข้าท่วมขังเป็นช่วงๆ บนถนนเอเชีย 41 ฝั่งขาขึ้น 1 ช่องจราจร ระหว่างหลักกิโลเมตร 3-5 เป็นระยะทางยาวกว่า 100 เมตร แต่รถทุกชนิดยังสามารถผ่านไปได้อย่างช้าๆ ด้วยความระมัดระวัง
ยังมีน้ำป่าที่ไหลทะลักลงมาจากเทือกเขาส่งผลให้พื้นที่การเกษตร ทางสาธารณะ บ้านเรือนได้รับความเสียหาย ในพื้นที่ อ.ละแม อ.พะโต๊ะ อ.สวี และ อ.ท่าแซะ อีกหลายหมู่บ้านเช่นกัน หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งสำรวจ และให้ความช่วยเหลืออยู่ขณะนี้
ด้าน นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา ทำให้ระดับน้ำในคลองต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชุมพรเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนบริเวณที่ลุ่มได้รับผลกระทบ จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อำเภอทุกอำเภอ แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณลำห้วยและลำคลอง ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างอย่างใกล้ชิด และขอให้แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น
พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
สำหรับทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย
อนึ่ง พายุดีเปรสชัน “ตาลิม” บริเวณประเทศเวียดนามตอนบนได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว และจะสลายตัวในระยะต่อไป
...
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้
วันที่ 20 กรกฎาคม 2566
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี
ภาคตะวันออก : จังหวัดสระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง