คนพิการเฮ รัฐ ดึงเครือข่าย ชุมชน สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ร่วมกันออกแบบการศึกษาแบบใหม่ในการแปรรูปสินค้าสร้างรายได้ให้คนพิการ เพื่อเป้าหมายให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 65 ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการหนุนเสริมและการจัดการความรู้สำหรับพัฒนาทักษะเยาวชน และแรงงานนอกระบบ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวถึง ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ว่า เป็นการทำงานกับกลุ่มคนเปราะบาง คนยากจน คนด้อยโอกาส คนพิการ เด็กในสถานพินิจฯ เด็กนอกระบบการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ต้องการเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือและดูแลตัวเอง ดังนั้นการพัฒนาอาชีพจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ โดยเราสร้างเงื่อนไขให้เขาได้เรียนรู้ผ่านการทำโดยเป้าหมายเพื่อให้เขาสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้

"กรณีของศูนย์คนพิการฯ มีเด็กหลายคนถูกทิ้งไม่รู้ที่มาที่ไป เราต้องมาโอบอุ้มดูแล และจะทำอย่างไรจะสร้างเงื่อนไขเรียนรู้ ให้เขาอยู่ได้ มีชีวิตที่มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพที่เขาจะสามารถทำได้ และอาชีพก็เป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่สร้างการเรียนรู้และอาชีพก็เป็นเครื่องมือที่เขาจะทำมาหากินในอนาคต เป็นเรื่องสำคัญที่ทางกสศ.ได้ทำมา และที่คิดว่าจะเป็นก้าวต่อไป" สมคิด กล่าว

...

ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า การทำงานแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายหรือที่เรียกว่า "ระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่" คือการที่คนในพื้นที่มาทำงานร่วมกัน เช่น ครูพี่เลี้ยงจากศูนย์พัฒนาศักยภาพคนพิการ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และเครือข่าย และคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มิติความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเพื่อน เป็นพี่เป็นน้อง เห็นอกเห็นใจเข้าใจ ถือเป็นระบบใหม่ที่จะดูแลกันและสามารถเชื่อมโยงองค์กรภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ครู กศน. ชาวบ้าน

น.ส.อรอนงค์ คำแหง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ทางศูนย์ได้ให้ความรู้เรื่องนวัตกรรมแปรรูปอาหารประจำถิ่นของศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ได้รับทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้ามาช่วยพัฒนาทักษะการแปรรูปอาหารของผู้พิการ

"เป้าหมายของเราคือ การฝึกอาชีพเพื่อให้เขาเลี้ยงตัวเองได้ อยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ และสามารถออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้ ดังนั้นการจะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกสร้างอาชีพด้วยตนเอง เราก็ต้องมั่นใจว่า เมื่อเขาออกไปแล้ว เขาจะไม่เป็นภาระของใคร ซึ่งในโครงการระยะที่สอง ที่จะมีการพัฒนาทักษะทางด้านสังคมมากขึ้น จะเน้นเปิดกับสังคมมากขึ้น" น.ส.อรอนงค์ กล่าว

น.ส.อรอนงค์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ได้ตอนนี้คือ เยาวชนคนพิการได้เรียนรู้ การทำแปรรูปอาหารได้อย่างถูกต้อง ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ได้เรียนรู้และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กมากขึ้น ทั้งในส่วนของการใช้ทักษะทางสังคมและการใช้ชีวิต ร่วมกันในศูนย์ฯ ปัญหา พฤติกรรมต่างๆ ก็ลดลง โครงการแปรรูปอาหาร มีเยาวชนจากศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้พิการทางด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ ร่วม 50 คนจากทั้งหมด 61 คน

นางวิสาขะ อนันธวัช สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า หลังได้รับอนุมัติทุนจากกสศ. ก็ได้ชวนนักศึกษา มาร่วมทำงานด้วยพร้อมกับดึงผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เช่น ธนาคารออมสิน ดูเรื่องการเงิน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มาดูเรื่องสุขภาวะให้เด็ก และอาจารย์ที่มีความชำนาญด้านการขาย มาให้ความรู้ในการหาตลาด และรูปแบบผลิตภัณฑ์ และดึงภาคเอกชนที่มีความถนัดในการทำอาหารมาช่วยสอน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือจากทุกๆ ภาคส่วนในการทำงานร่วมกัน เมื่อผ่านการฝึกทักษะ 6 เดือน กลุ่มผู้พิการสามารถสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร และยืดอายุผลิตภัณฑ์ได้นานขึ้น

...

น.ส.ฐิตา สำเภารอด อายุ 20 ปี เยาวชนของศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า หลังได้รับการอบรม เรียนรู้การแปรรูปอาหาร ตนมีความมุ่งมั่นตั้งใจจะนำความรู้ไปพัฒนาการแปรรูปอาหารขายที่บ้านเกิดใน จ.กำแพงเพชร ตนเป็นหนึ่งในเยาวชนจากจำนวน 50 คนที่เข้าร่วมโครงการฯ จากเด็กในศูนย์ฯทั้งหมด 61 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้พิการทางด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ และได้รับการอบรมการแปรรูปอาหาร พร้อมกับการพัฒนาด้านทักษะอื่นๆ ที่ทำให้ตนสามารถที่จะสื่อสารกับคนภายนอก และขายสินค้าของศูนย์คนพิการฯ ผ่านทางออนไลน์ จนเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวตนเองได้