เกษตรกรต้นแบบบนเกาะยาวน้อย จ.พังงา ขยันใฝ่รู้ หันมาทดลองทำสวนองุ่นปลอดสารพิษบนเกาะกลางทะเลอันดามันจนได้ผลผลิตแล้วได้รสชาติอร่อย หวังจะต่อยอดพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างรายได้ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวได้เยี่ยมชมแปลงปลูกองุ่นปลอดสารพิษสวนครูหมาด บนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา ของนางกัลยาณี อ่อนทอง เกษตรกรต้นแบบ (Smart Farmer) ซึ่งใช้ชีวิตตามหลักปรัชญา "ของเศรษฐกิจพอเพียง" สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยสวนตั้งอยู่ที่บ้านท่าค่าย ม.1 ต.เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา เป็นสวนเกษตรผสมผสานในพื้นที่ 1.5 ไร่ โดยปลูกพืชหลากหลายชนิด เช่น มะละกอ กล้วยหอม ฝรั่ง เสาวรส มัลเบอร์รี่ มะพร้าวน้ำหอม แก้วมังกร มะนาว พืชผักสวนครัว เพาะถั่วงอก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ไว้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเป็นรายได้เสริม

...

ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ได้คิดสวนกระแสหันมาปลูกพืชมูลค่าสูงในโรงเรือน คือ องุ่น ซึ่งแต่เดิมเคยปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ และผักในโรงเรือนระบบปิด ขนาด 6X20 เมตร ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา และสำนักงานเกษตรอำเภอเกาะยาว เพื่อเป็นจุดเรียนรู้การปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ สนับสนุนการท่องเที่ยวของอำเภอเกาะยาว แต่มาระยะหลังความนิยมบริโภคผักไฮโดรโปนิกส์ลดลง จึงได้มีความคิดในการปลูกพืชมูลค่าสูง โดยการลองผิดลองถูกเพื่อหาประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นแตงโม เมล่อน แตงกวาญี่ปุ่น ซึ่งได้รับผลตอบรับดีพอสมควร ด้วยความเป็นคนขยัน ใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา มีความคิดว่า องุ่นเป็นพืชที่คนนิยมบริโภค และตลาดมีความต้องการสูง 

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้บริโภคไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัย และภาคใต้ยังไม่ค่อยมีผลผลิต เป็นความท้าทายที่ถ้าทำได้จะทำให้คนเกาะยาว และนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนเกาะยาวได้บริโภคผลไม้สด อีกทั้งความได้เปรียบในสภาพพื้นที่ที่เป็นเกาะ ทำให้มีน้ำทะเลซึมเข้ามา ผลผลิตที่ได้จึงมีรสชาติดี ปลอดภัย มีราคาที่จับต้องได้ จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่โรงเรือนที่เคยปลูกผักมาปลูกองุ่นแทน และทำโรงเรือนเพิ่มขึ้นอีก 2 โรง โดยเริ่มทดสอบปลูกองุ่นสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อหาพันธุ์ที่เหมาะสม ได้แก่ พันธุ์ไวท์มะละกา พันธุ์แบล็คโอปอล พันธุ์บิวตี้ซีดเลส พันธุ์เวเลส และอีกหลายสายพันธุ์

และล่าสุดองุ่นพันธุ์เวเลส Veles กำลังให้ผลผลิตที่สมบูรณ์สวยงามเต็มโรงเรือน ถึงระยะที่จะต้องเก็บเกี่ยวพอดี เมื่อนักท่องเที่ยวและผู้สื่อข่าวได้ทดสอบรสชาติ พบว่ามีรสชาติที่หวานเป็นอย่างมาก มีกลิ่นเฉพาะตัวล้ำลึกไม่เหมือนกับองุ่นที่เคยกินมาก่อนเลย และได้ความรู้สึกที่ปลอดภัยเพราะเป็นองุ่นปลอดสารพิษ ซึ่งทางสวนตัดจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 200 บาท และพบว่าผลผลิตที่ได้ไม่พอกับยอดการจองทั้งหมด เนื่องจากอำเภอเกาะยาวเป็นที่นิยมในด้านการท่องเที่ยวของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จึงได้เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยการเตรียมทำร้านขายกาแฟและอาหารให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมสวนองุ่นได้พักผ่อนทานกาแฟ ของทานเล่นชิลๆ ภายใต้ชื่อร้าน Hornbill Cafe

...

นางกัลยาณี อ่อนทอง กล่าวว่า ได้ไปอบรมที่สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา มีคนเขามาบรรยายเรื่องการปลูกองุ่น ก็รู้สึกว่าสนใจรู้สึกว่าชอบก็เลยกลับมาศึกษาและก็ซื้อพันธุ์มาปลูกเลย โดยจะเน้นความปลอดภัยไว้ก่อนใช้สารชีวภาพ สารชีวภัณฑ์เป็นอันดับแรก เพื่อให้ปลอดภัยกับตัวของเราแล้วก็ครอบครัวของเราแล้วก็คนที่มาซื้อองุ่น จากการทดลองปลูกพบว่าพันธุ์เวเลส Veles ให้ผลผลิตดีมาก แถมองุ่นที่ปลูกบนเกาะยาวมีรสชาติที่โดดเด่นเฉพาะตัวจากการที่ใช้ใบไม้ที่ทับถมอยู่ในทะเลและใบสนมาเป็นปุ๋ย ล่าสุดได้ต่อยอดเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมพร้อมเตรียมเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ใช้ผลผลิตภายในสวนมาประกอบเป็นเมนูอาหาร

...

ด้าน นางอุษณี เจียมรา เกษตรอำเภอเกาะยาว กล่าวว่า สำนักงานเกษตรอำเภอเกาะยาว ได้สร้างความตระหนักให้กับเกษตรกรในการอยู่ได้ และอยู่ดีตลอดมา โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สำหรับสวนครูหมดทางสำนักงานเกษตรอำเภอเกาะยาวก็ได้สนับสนุนโรงเรือนขนาด 6x20 เมตร โดยเราก็ได้เน้นไปตรงที่ให้เกษตรกรได้ลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อลดต้นทุนการผลิต พร้อมกับเน้นให้กับเกษตรกรผลิตให้ปลอดภัย และที่สำคัญก็คือเราใช้การตลาดนำการผลิต ให้มีการวิเคราะห์ก่อนว่าพืชอะไรที่มีความเป็นไปได้บนเกาะตามศักยภาพที่เราทำได้ โดยให้สำรวจตลาดว่าความต้องการบนเกาะมีขนาดไหน ซึ่งผลไม้ส่วนใหญ่จะนำมาจากข้างนอก ถ้าเราสามารถที่จะผลิตเองได้บนเกาะก็จะทำให้เราได้เปรียบในเรื่องของความสดความสะอาดแล้วก็ปลอดภัย อีกอย่างก็อำเภอเกาะยาวมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ จึงสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกจุดหนึ่งในอำเภอเกาะยาว.