โลกของนกสวยงามอยู่ที่พังงา เมื่อนักดูนกจากทั่วไทย ต่างเดินทางมายังเขตอุทยานแห่งชาติศรีพังงา เพื่อตั้งกล้องดูนกและถ่ายภาพ "นกแต้วแล้วลาย" นกประจำถิ่นที่ออกหากิน และจับคู่ผสมพันธุ์แบบใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 9 ก.พ.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มช่างภาพถ่ายนกทั่วประเทศต่างได้เฮดีใจ หลังนกแต้วแล้วลาย ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีพังงา ท้องที่อำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ได้ออกมาหากินจับคู่ เพื่อทำรังวางไข่ในฤดูผสมพันธุ์ ทำให้ช่างภาพสายถ่ายนกทั่วประเทศ ต่างเดินทางมาเก็บภาพบันทึกภาพนกแต้วแล้วลายที่ออกมาอวดโฉม สีสันสวยงาม ให้ช่างภาพสายนกได้เก็บภาพเพื่อความประทับใจ ในป่าธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติศรีพังงา จ.พังงา
...
สำหรับ นกแต้วแล้วลาย เป็นหนึ่งในนกแต้วแล้วชนิดหนึ่ง ที่มีสีสันสวยที่สุดชนิดในบรรดานกแต้วแล้วทั่วโลกก็ว่าได้ นกแต้วแล้วลายเป็นนกประจำถิ่น พบเฉพาะป่าดงดิบทางภาคใต้ของประเทศไทย และกระจายเป็นหย่อมๆ ในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย นกแต้วแล้วลาย ขนาด 21-24 ซม. เป็นนกแต้วแล้วขนาดกลาง ตัวผู้และตัวเมียต่างกัน แต่งามกันคนละแบบ คิ้วสีเหลืองสดขับเน้นปลายคิ้วด้วยสีแดงชาด กระหม่อมคาดแถบดำ คอขาวแบบปุยหิมะ ใบหน้าเข้มดุดันด้วยแถบดำคาดตาด สีข้างลาย และปีกสีน้ำตาลคาดด้วยแถบขาวยาวตลอดแนวโดดเด่นและหางสีฟ้า
สำหรับนกแต้วแล้วลายตัวผู้ต่างจากตัวเมียที่อกและท้องเป็นสีน้ำเงินเข้มไม่มีลาย ลูกนกคล้ายตัวเมียแต่สีจืดชืดกว่ามาก ส่วนการสร้างรังจะสร้างเหนือพื้นดินซึ่งอาจจะสูงถึง 3 เมตรจากพื้น รังซุกตามง่ามไม้กลุ่มปาล์ม เช่น หวาย นกใช้รากไม้และกิ่งไม้แห้งขัดสานเป็นโครงแล้วบุด้วยใบไม้แห้ง โดยที่ตัวเมียจะวางไข่ครั้งละวางไข่ 3-4 ใบ.