ต้นปี...2562 เชื่อว่าหลายคนยังคงจำพายุ “ปาบึก” ที่ก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณจีนใต้ตอนล่าง ก่อนทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันและโซนร้อนตามลำดับ
“ปาบึก”...ได้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในช่วงเที่ยงของวันที่ 4 มกราคม แล้วก็เคลื่อนตัวปกคลุมภาคใต้ ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 23 จังหวัด...97 อำเภอ...454 ตำบล...2,887 หมู่บ้าน...133 ชุมชน...ราษฎรได้รับผลกระทบ 222,737 ครัวเรือน 720,885 คน
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ...ผลกระทบจากพายุที่รุนแรงเช่นนี้จะผ่อนเบาลงได้ ถ้ามีการเตรียมการเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น?
ดังเช่นที่ตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งไม่เพียงช่วยรับมือในพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น หากแต่ยังสามารถดำเนินเป็น “ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย” จากพายุปาบึก โดยประสานงานกับทุกส่วน
จนกลายเป็น...เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช
โกเมศร์ ทองบุญชู ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและโครงข่ายการจัดการภัยพิบัติด้วยพลังสังคมพื้นที่ภาคใต้ สนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. เล่าให้ฟังว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา “เกาะขันธ์”...เป็นพื้นที่ประสบภัย ไม่ว่าจากน้ำท่วม หรือภัยแล้ง จึงสามารถตั้งรับและช่วยเหลือพื้นที่ใกล้เคียง
พร้อมทั้งผลิตอาหารจากโรงครัว ที่ตั้งอยู่พื้นที่ปลอดภัย น้ำท่วมไม่ถึง ไปช่วยศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย 1,800 ชุด ได้ในเวลาจำกัด บรรเทาความเดือดร้อนได้ระดับหนึ่ง
เหตุการณ์แรกที่อาสาสมัครจากเกาะขันธ์เข้าไปช่วยเหลือ คือปลายปี 2559-2560 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในนครศรีธรรมราช อ.ชะอวด เจอวิกฤติรุนแรง อาสาสมัครก็ได้ช่วยเหลือเต็มกำลัง จนไม่มีผู้เสียชีวิต และอีกส่วนหนึ่งก็ระดมความร่วมมือผลิตอาหารจากโรงครัวไปเลี้ยงผู้ประสบภัยวันละ 2,500 คน
...
ประสบการณ์เพิ่มพูนสร้างการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงมีแนวคิดให้ตำบลต่างๆมีระบบป้องกันภัยแบบ ต.เกาะขันธ์...
เกิดโครงการ “การจัดการภัยพิบัติใน จ.นครศรีธรรมราช” ขึ้น มีคนทำงานประมาณ 30 กว่าคน และใช้ “ตำบลเกาะขันธ์” เป็นแม่ข่าย
ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชและกระทรวงมหาดไทย กำหนดเป็นนโยบาย “1 ตำบล 1 ศูนย์การจัดการภัยพิบัติ” มอบให้ จ.นครศรีธรรมราช นำร่อง ซึ่งองค์ประกอบต่างๆของศูนย์ถือเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ใช้รับมือกับภัยพิบัติได้จริง เช่น โครงสร้างการทำงาน เริ่มจากการนำระบบ ข้อมูลมาวิเคราะห์ สังเคราะห์
เพื่อกำหนดแผนการจัดการภัยพิบัติ ทั้งก่อนประสบภัย ขณะประสบภัย และหลังประสบภัย...มีการแยกประเภทผู้ประสบภัยที่ต้องช่วยเหลือเร่งด่วน คือ...คนทุพพลภาพ กลุ่มเปราะบาง ผู้ประสบภัย
ส่วนอาสาสมัครก็มีหลักสูตรพัฒนาอาสาสมัครในการจัดการภัยพิบัติ ที่ออกแบบร่วมกันระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกองทัพ โดยดึงภูมิปัญญาชาวบ้านเข้าไปผสมผสาน
นอกจากนี้ ในด้านกองทุนการจัดการภัยพิบัติระดับตำบล จะมีกองทุนของตัวเองที่ไม่ใช่แค่งบประมาณเพียงอย่างเดียว บางพื้นที่อาจเป็นไม้ฟืน ข้าวเปลือก ข้าวสาร เครื่องไม้เครื่องมือ อย่าง...เลื่อยยนต์ เครื่องเรือ เชือก อุปกรณ์ช่วยเหลือ เครื่องชูชีพ และอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่มองข้ามไม่ได้นั่นก็คือ “ครัวชุมชน”
ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เช่นเดียวกับระบบการสื่อสารเครือข่าย ต้องสามารถติดต่อกันได้ตลอด แม้จะน้ำท่วม ไฟดับ ถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์ ดังนั้นวิทยุสื่อสารจึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ
“สำหรับการเป็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง และเข้าร่วมเป็นเครือข่ายตำบลสุขภาวะ มีกำนันเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อน พัฒนานโยบายสาธารณะหมู่บ้านจัดการตนเอง โดยอาศัยระบบจัดเก็บข้อมูล TCNAP หรือ...Thailand Community Network Appraisal Program มาค้นหาทุนศักยภาพท้องที่ แล้วเขียนแผนพัฒนาชุมชน ซึ่งจริงๆทุกหมู่บ้านมีต้นทุนอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีระบบข้อมูล” โกเมศร์ ว่า
ถึงตรงนี้ให้รู้อีกว่า พื้นที่ “อำเภอชะอวด”...เป็นพื้นที่สวนผลไม้ที่สำคัญ ทั้งเงาะ มังคุด ทุเรียน แต่ด้วยเหตุที่มีสภาพอากาศแบบสุดขั้ว คือถ้าหน้าฝนก็จะมีน้ำมาก เกิดน้ำหลาก น้ำท่วม เมื่อถึงหน้าแล้งก็จะร้อนแล้งอย่างหนัก ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ต้องหาวิธีการจัดการน้ำมาใช้กับสวนผลไม้ของตัวเอง
วิธีการหนึ่งที่ชาวเกาะขันธ์นำมาใช้คือการสร้างฝายเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และช่วยชะลอน้ำในฤดูน้ำหลากไม่ให้ถาโถมแรงเกินไป จึงกล่าวได้ว่าที่ตำบลเกาะขันธ์มีการจัดการน้ำในทุกระดับ โดยคณะกรรมการพัฒนาตำบลเกาะขันธ์ ได้เน้นการทำฝายทดน้ำที่วิเคราะห์แล้วพบว่าต้องการ 60 ฝาย จึงทยอยสร้างมาตั้งแต่ปี 2557 โดยไม่รองบประมาณ เพราะแผนทำฝายมีหลายแบบ ทั้งแผนพึ่งตนเอง ลงมือทำได้เลย
เช่น ฝายกระสอบทราย ฝายมีชีวิต...แล้วก็มีแผนพึ่งภาคีเครือข่าย ชวนเพื่อนมาช่วยทำฝายหินก่อ ขอกลุ่มทุนธุรกิจในพื้นที่ในด้านวัสดุ หรือ...แผนพึ่งคนภายนอก ที่ต้องใช้งบประมาณ ก็ต้องทำโครงการเสนอไปที่ อบต. อำเภอ กลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัด เป็นต้น
...ทำให้ถึงขณะนี้เสร็จแล้ว 47 ฝาย ควบคู่ไปกับการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบท่อน้ำเพื่อการเกษตร น้ำประปาหมู่บ้าน
รวมทั้งมีกฎกติกาในการใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาวะ เกิดคนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจอาชีพเกษตรกรรมแบบปลอดสารพิษ เช่น สละ มัลเบอร์รี ทุเรียน 200 ปี กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของตำบลอื่นๆ
ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เสริมว่า สสส.เข้าไปสนับสนุนให้ตำบลเกาะขันธ์ถอดบทเรียนเพื่อจัดการการเรียนรู้และถ่ายทอดให้กับท้องถิ่นอื่นๆที่สนใจ โดยเฉพาะตำบลในเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
...
...เรื่อง “น้ำ” มีทั้งน้ำอุปโภค บริโภค ท้องถิ่นสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจากการจัดการที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันนี้เกาะขันธ์ไม่ค่อยมีปัญหาในช่วงฤดูแล้ง มีการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำ แล้วต่อท่อ ...ติดสปริงเกอร์ไปตามสวนต่างๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
“เกาะขันธ์เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความสำเร็จเรื่องจัดการน้ำได้นำมาซึ่งความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ บางครอบครัวมีรายได้จากการขายผลไม้มากกว่าหนึ่งล้านบาทต่อปี
...ก็เพราะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ทำให้ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย... ส่งผลให้เกษตรกรเหล่านี้ไม่ต้องกังวลใดๆ จึงกล้าที่จะออกมาทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น”
ดวงพร ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ฝากทิ้งท้ายว่า
วันนี้ “ตำบลเกาะขันธ์”... กำลังเตรียมพื้นที่รองรับ “การท่องเที่ยว” แต่ต้องวางระบบให้ดีก่อน เช่น พัฒนาเรื่องโฮมสเตย์ การจัดการขยะทุนท้องถิ่น การสร้างอาหารปลอดภัย เกษตรปลอดภัย เพราะยังยึดอาหารปลอดภัยเป็นตัวขับเคลื่อน พร้อมๆไปกับการสร้างสำนึกคนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ไม่นานเราคงได้ยินชื่อ “ตำบลเกาะขันธ์” ดีเด่นดังเรื่องท่องเที่ยวตามวิถี ที่ไม่ใช่คุ้นหูเพราะเป็นพื้นที่เผชิญภัยพิบัติซ้ำซากทุกปี.