"ทฤษฎีใหม่" แนวทางจัดการทรัพยากรระดับไร่นา ที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยวิธีการจัดการทรัพยากรเหมาะสม จัดสร้างแหล่งน้ำในที่ดินสำหรับการทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างได้ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ มีรายได้ไว้ใช้จ่าย และมีอาหารไว้บริโภคตลอดปี
โดยพื้นที่ นายอาเด๊าะแว หะยีหะมะ เกษตรกร หมู่ที่ 4 ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส จากพนักงานรับจ้างที่ประเทศมาเลเซียกว่า 25 ปี สนใจในเข้าร่วมโครงการโดยมีแรงบันดาลใจ "ทำตามรอยพ่อ" กินอยู่อย่างพอเพียง กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน และกลับมาพัฒนาพื้นที่บ้านเกิด โดยมีเจ้าหน้าทีของสถานีพัฒนาที่ดินนราธิวาสเข้ามาดูแลและสนับสนุน
นางสาวภาณิศา สวนจันทร์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินนราธิวาส เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เกษตรกรไปทำงานอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย มีโอกาสได้ดูทีวีเกี่ยวกับเกษตรพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงอยากทราบว่าทำกันอย่างไร เลยอยากจะกลับมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่บ้านของตนเอง จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว ซึ่งพื้นที่ของเกษตรกรลักษณะดินเป็นดินปนทราย โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทิ้งร้าง โดยอันดับแรกเกษตรกรได้สมัครเข้ามาในเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งมีหลายหน่วยงานได้เข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่ของเกษตรกรเพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น ในส่วนของทางสถานีพัฒนาที่ดินนราธิวาส ได้เข้ามาดูแลและแนะนำการใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และทำให้ต้นไม้ของเกษตรกรดูดีและสวยงามขึ้น ซึ่งจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ทีละนิดตามกำลังทรัพย์ของเกษตรกร หลังจากที่ใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักแล้ว ดินมีความร่วนซุยมากขึ้น สามารถเก็บกักน้ำได้เป็นอย่างดี
...
นายอาเด๊าะแว หะยีหะมะ เกษตรกร หมู่ที่ 4 ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า การทำเกษตรผสมผสาน ต้องทำด้วยใจและต้องใช้ความอดทน เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น มีการเริ่มต้นพัฒนาพื้นที่มา 5 ปีแล้ว และได้มีการเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรและเพื่อนบ้านได้เข้ามาศึกษา เพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ปัจจุบันมีเกษตรกรและชาวบ้าน เข้ามาศึกษาการทำเกษตรผสมผสานและไปพัฒนาพื้นที่ของต้นเอง เป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในครอบครัววันละ 400-500 บาทต่อวัน การที่มาทำการเกษตรเราสามารถเลือกทำเวลาไหนก็ได้ ได้อยู่กับธรรมชาติ เป็นนายตัวเองไม่ต้องแข่งกับเวลาและไม่ต้องแข่งกับใคร สะดวกเวลาไหน ก็ทำได้ทุกเวลา การทำเกษตรผสมผสานถ้าคิดจะทำ ไม่ยากที่จะปรับเปลี่ยน เพราะยุคนี้มีให้ศึกษาหาความรู้มากมาย ทั้งทางโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต และพื้นที่ของตนสำเร็จเกินครึ่งแล้ว และจะพัฒนาไปเรื่อยๆ
ทั้งนี้ นายอาเด๊าะแว ยังเป็นแบบอย่างในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต และเป็นแบบอย่างให้คนในชุมชน โดยใช้พื้นที่ทำการเกษตรของตนเองเป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรทั่วไป และยังเสียสละพื้นที่ว่างบางส่วนของตนเองให้เพื่อนบ้านที่ไม่มีที่ทำกิน เข้ามาทำการเกษตรเพื่อเป็นการสร้างรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น.