สถานีพัฒนาที่ดินสงขลา เร่งเข้าช่วยเหลือเกษตรกรประสบปัญหาสภาพดิน โดยในพื้นที่ ต.พิจิตร อ.นาหม่อม จ.สงขลา ที่สภาพแวดล้อมที่เป็นดินลาดชันทำให้มีผลกระทบต่ออุณหภูมิดินและเรื่องของความชื้น ทำให้เป็นปัญหาต่อการเจริญเติบโตพืชพรรณ และการไหลบ่าและไหลซึมของน้ำชะล้างพังทลายของดิน จึงต้องมีจึงมีมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ 2 วิธี ปรับดินเป็นขั้นบันได และวิธีพืชผสมผสานด้วยการใช้หญ้าแฝก


นายทวีศักดิ์ ชนะสิทธิ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า จากการวัดค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ปรากฏว่ามีค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ที่ ประมาณ 6.5 pH ซึ่งเหมาะสมต่อการทำการเกษตร จริงๆ แล้วการทำการเกษตรให้ได้ผล หรือมีประสิทธิภาพก็จำเป็นต้องมีการปรับปรุงบำรุงดิน ส่วนที่ดินนอกจากจะผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพใช้เองแล้ว ในการทำปุ๋ยหมักหรือน้ำหมักชีวภาพบางครั้งใช้ระยะเวลานาน ทางสถานีพัฒนาที่ดินสงขลา ได้มีการจัดจำหน่ายปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ กิโลกรัมละ 3 บาท เพื่อบริการให้กับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจนำไปใช้ในการทำเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง

...

ด้านนายวิทูร ชมพูนุทยรรยง เกษตรกร กล่าวว่า จากอดีตหนุ่มนักธุรกิจ ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร โดยมีพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 8 ไร่ แบ่งปลูก ฝรั่งกิมจู ชมพู่ มัลเบอร์รี่ และในส่วนพื้นที่ขั้นบันได ก็ได้นำหญ้าแฝกมาปลูก ซึ่งก่อนหน้านี้พื้นที่ตรงนี้เป็นป่ารกและไม่มีคนสนใจ แต่มีแหล่งน้ำใช้ตลอดทั้งปี จึงได้ตัดสินใจซื้อและจัดระเบียบที่ดิน ขุดบ่อน้ำ ซึ่งผลจากการที่ได้นำหญ้าแฝกมาปลูก ก็ช่วยในการปรับสภาพพื้นดินให้อมน้ำ หน้าดินก็ชุ่มชื้นขึ้น สามารถเก็บธาตุอาหารในดินเอาไว้ได้

ทั้งนี้ ฝรั่งกิมจูที่ปลูกจะใช้เวลา 8 เดือน และเก็บผลผลิตขาย ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องของการขาย เพราะได้ตัดปัญหาเรื่องของพ่อค้าคนกลางและใช้วิธีขายผลผลิตเอง โดยมีลูกค้าเข้าติดต่อขอซื้อผลผลิตเองในสวน รวมไปถึงการขายปลีกเองที่บริเวณหน้าสวนให้กับลูกค้าที่ขับรถผ่านไปมา ครั้งแรกที่สถานีพัฒนาที่ดินสงขลา ได้ติดต่อเข้ามาแนะนำให้ปลูกฝรั่งกิมจู ก็ได้ให้เจ้าหน้าที่มาช่วยแนะนำวิธีการปลูกและส่งเสริมในเรื่องของการใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ

นอกจากนั้นก็ส่งเสริมในเรื่องของพันธุ์พืช ก็ได้มาช่วยแนะนำในเรื่องพันธุ์ที่จะเอามาปลูก และจัดหาพันธุ์มาให้ปลูก จากนั้นเราก็ขยายกิ่งพันธุ์เอง ไม่ว่าจะเป็น มัลเบอร์รี่ ชมพู่ ฝรั่ง โดยตนเองได้เคยชวนทุกคนที่สนใจ อยากจะทำการเกษตร ว่าให้ลองมาทำแบบตน อย่างในพื้นที่นี้ก็ทำมาได้ประมาณสามปี มีหมอดินทั่วทั้งจังหวัดสงขลาและอีกสามจังหวัดภาคใต้มาศึกษาดูงาน เช่น พัทลุง มาศึกษาดูงานครั้งหนึ่ง ประมาณ 50-100 คน ซึ่งก็มาศึกษาดูงานหลายคณะแล้ว ตนเองก็ได้เชิญชวนและแนะนำให้ปลูกหญ้าแฝกตรงหน้าดินที่เป็นขั้นบันไดนี้ เพราะหญ้าแฝกสามารถป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้ดีมาก ถ้าปลูกแบบนี้ในไร่จะทำประโยชน์ในเรื่องของดินได้ดีมาก.