ยางราคาตก หนทางช่วยให้เกษตรกรอยู่รอดได้ คือ ลดต้นทุน นายขจรศักดิ์ มีแก้ว นายธนวรรษ ไตรสุนทร และ น.ส.นิรัชพร สีหามาตย์ นักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมกันคิดประดิษฐ์สร้างเครื่องพันลวดเกือกม้า ผลิตลวดรองรับถ้วยน้ำยางพารา จำหน่ายให้ชาวสวนยางในราคา ต่ำกว่าท้องตลาด 50% โดยมี นายมนตรี ปรีชา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
เป็นเครื่องพันลวดเกือกม้าที่ใช้เวลาในการเก็บข้อมูลและเขียนแบบนานกว่า 1 ปี แต่การสร้างใช้เวลาเพียงแค่ 1 เดือน เป็นเครื่องสร้างให้มีลักษณะทำงานแบบกึ่งอัตโนมัติ โครงทำจากเหล็ก ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ชุดส่งลวด และชุดม้วนลวดสปริง
ขจรศักดิ์ กล่าวถึงประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องพันลวดนี้ว่า สามารถทำงานได้ในแบบต่อเนื่อง พันลวดเกือกม้าได้ 420 ชิ้นต่อชั่วโมง...ในขณะที่แรงงาน 1 คน ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ค่าแรง 400 บาท แต่ได้ลวดรองถ้วยน้ำยางแค่ 300 ชิ้นเท่านั้นเอง
เมื่อนำเครื่องพันลวดเกือกม้าไปให้ร้านขายอุปกรณ์ทางการเกษตร และกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ทดลองผลิตลวดรองถ้วยน้ำยางออกมาจำหน่าย ปรากฏว่า ต้นทุนค่าแรงงานลดลง สามารถผลิตลวดรองถ้วยน้ำยางจำหน่ายได้ในราคาถูก
...
จากเดิมที่จำหน่ายกันชุดละ 5 บาท (ถ้วย+ลวด) ลดลงมาเหลือแค่ชุดละ 3 บาท แต่ขายเป็นชิ้นๆ เฉพาะลวดรองถ้วยน้ำยางอย่างเดียว เดิมขายกันชิ้นละ 2 บาท ราคาจะต่ำลงเหลือเพียงชิ้นละ 1 บาท
นอกจากนั้นเครื่องพันลวดเกือกม้าแบบต่อเนื่องนี้ยังสามารถทำให้ลวดมีความแข็งแรงทนทานมากขึ้น ใช้งานได้นานปีมากกว่าลวดที่พันด้วยแรงงานคน เพราะใช้ลวดแบบหนาหรือลวดสปริงมาม้วนได้ด้วย สนนราคาค่าเครื่องพันลวดเกือกม้า อยู่ที่เครื่องละ 20,000 บาท
เหมาะสำหรับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางจะนำไปใช้ผลิตลวดรองถ้วยน้ำยางจำหน่ายให้สมาชิกในราคาต่ำเพื่อลดต้นทุนการผลิต จนได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดงานนวัตกรรมวิจัยต้นน้ำด้านการผลิตยางพารา ของการยางแห่งประเทศไทย สนใจสอบถามได้ที่ 09-3223-2675.