ของดีที่ อ.ท่าลี่ จ.เลย ต้อง 'ไค' หรือ 'สาหร่ายหิน' สุดยอดวัตถุดิบพื้นบ้าน นำไปปรุงอาหารได้คุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมด้วยโปรตีน วิตามิน เสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
เมื่อวันที่ 12 ม.ค.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาหร่ายน้ำจืด หรือ ชาวบ้านเรียกว่า ไค หรือ สาหร่ายหิน อาหารพื้นบ้าน ที่ขึ้นตามธรรมชาติในแม่น้ำเหือง พรมแดนไทย-ลาว อ.ท่าลี่ จ.เลย ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารและสร้างรายได้แก่ชาวบ้านเป็นกอบเป็นกำ
นายเด่นชัย สุมีศรี อายุ 67 ปี กล่าวว่า ช่วงฤดูหนาวถึงหน้าร้อน ประมาณ 4 เดือน พื้นที่ของบ้านอาฮี ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเหือง อันเป็นแม่น้ำขวางกั้นพรมแดนระหว่าง จ.เลย กับ สปป.ลาว ที่มีประวัติอันยาวนานควบคู่กับอาหารพื้นบ้านที่ประชาชนนิยมชมชอบบริโภคในครัวเรือน และการจำหน่ายสร้างรายได้ คือ สาหร่ายหิน หรือสาหร่ายน้ำจืด ที่ชาวบ้านเรียกว่า ไค เพราะบริเวณที่ตั้งบ้านอาฮี จะพิเศษกว่าหมู่บ้านอื่นคืออยู่ริมแม่น้ำเหือง
...
โดยแม่น้ำเหือง น้ำตื้นและน้ำใส สามารถมองเห็นสาหร่ายน้ำจืดได้ชัดเจน ชาวบ้านจะลงไปเก็บสาหร่ายที่แม่น้ำเหืองที่มีความลึกประมาณหัวเข่า จากนั้นดึงสาหร่ายน้ำจืดที่เกาะก้อนหินออกมาจากก้อนหิน และนำมาล้างให้สะอาดและตากแห้งประมาณ 1 วัน และย่างไฟให้สุก ทำการขยี้เป็นผง ทำเป็นกินกัน โดยที่นิยมกันมากคือ เอ๊าะ ใส่เนื้อไก่ ใส่ไข่ หรือจะกินกับน้ำพริก
นอกจากนี้ยังทำเป็นแผ่นตากแห้งเก็บไว้กินนานๆ โดยชาวบ้านมักจะนำไปขายที่ตลาดเช้าตลาดเย็น ในชุมชน ต.อาฮี โดยที่นี่จะมีผู้นิยมกินกันมาก และจะมีพ่อค้าคนกลางมาซื้อ ในราคาขายถุงละ 20 บาท ส่วนเรื่องคุณค่าทางโภชนาการหรือสรรพคุณนั้น พบว่ามีโปรตีน วิตามินสูง เสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง