นักศึกษา ม.อุบลราชธานี สุดกดดัน หลังมีการออกหลักเกณฑ์พิจารณากองทุนให้กู้เพื่อการศึกษาใหม่ มี นศ.รายเก่าไม่ผ่านเกณฑ์กว่าพันคน เผยครอบครัวไม่มีเงินส่งเสีย อาจต้องลาออก หรือดร็อปเรียนไปทำงานหาเงิน ฝากถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองช่วยด้วย
จากกรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เกิดกระแสตื่นตระหนกว่าจะไม่ได้กู้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ปีการศึกษา 2557 จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในกลุ่มนักศึกษา และบางคนถึงกับโพสต์ข้อความระบายความกดดัน ว่าหากไม่ได้เงินกู้ยืมเรียน ก็จะลาออก หรือดร็อปเรียนไปเลยนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 21 ส.ค.57 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สอบถาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เผยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับนักศึกษาภายในสถาบันจริง หลังมีประกาศสำนักงานพัฒนานักศึกษาถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาให้กู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2557 ว่าจะพิจารณาอนุมัติให้ยืมในรายที่บิดามารดาเสียชีวิต หรือผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งเสียชีวิต หรือมีความเจ็บป่วยทุพพลภาพ หรือมีภาระที่ต้องรับผิดชอบบุตรที่กำลังศึกษาก่อน
โดยปัจจุบันนักศึกษารายเก่า ที่มีความประสงค์ยื่นแบบคำขอ/แบบยืนยันกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวนทั้งหมด 5,748 ราย ได้รับจัดสรร (ครั้งที่1) จำนวน 4,585 ราย ยังมีนักศึกษาที่ไม่ได้รับจัดสรร (ครั้งที่ 1) จำนวน 1,163 ราย ขณะที่นักศึกษารายใหม่ ที่มีความประสงค์ยื่นแบบคำขอ/แบบยืนยันกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวนทั้งหมด 691 ราย ได้รับจัดสรร 627 ราย ทำให้คาดว่านักศึกษาที่ไม่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืม และเป็นนักศึกษาที่ยากจนอาจต้องลาออกกลางคัน หรือบางรายอาจลาออกไปทำงานก่อน
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจึงมีแนวทางการดำเนินงานช่วยเหลือนักศึกษา คือ ทำหนังสือขอทุนการศึกษาเพิ่มจากผู้ประกอบการ ห้างร้าน จัดทำงบประมาณขอทุนอุดหนุนจากเงินมหาวิทยาลัยเพิ่ม 3 เท่า โดยได้ประสานเบื้องต้นกับแหล่งเงินกู้จากธนาคาร เพื่อขอให้เปิดกู้เงินแก่นักศึกษา รณรงค์ให้นักศึกษาศิษย์เก่า กยศ.ของมหาวิทยาลัยชำระหนี้ให้มากขึ้น แต่การดำเนินการดังกล่าวก็ช่วยได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น
...
ด้าน นายนิวัฒน์ ทันใจ อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 เกรดเฉลี่ย 3.46 เผยว่า พวกเรานักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนล่าง) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความยากจนที่สุดของประเทศ และนักศึกษาส่วนใหญ่ที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ปกครองประกอบอาชีพเกษตรกรรม และรับจ้างทั่วไป หลังเห็นประกาศจากสถาบันที่ต้องคัดสรรนักศึกษาที่ได้รับทุนใหม่ให้เป็นไปตามเกณฑ์ มีนักศึกษาอย่างพวกตนไม่ได้รับทุนต่อเนื่องอีกกว่า 1 พันคน ทำให้ต้องตื่นตัวเพราะเกรงจะไม่มีเงินเรียนต่อ จนต้องดร็อปเรียน หรืออาจต้องไปกู้นอกระบบมาเพื่อใช้เรียนต่อ จึงอยากให้ผู้ที่จะมาบริหารประเทศ ได้หันมาให้ความสนใจสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษามากขึ้น เพราะงบประมาณด้านการศึกษาเป็นงบลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เมื่อเยาวชนของชาติมีการศึกษาที่ดีแล้ว เขาเหล่านั้นก็จะกลับมาพัฒนาประเทศต่อไป