พบฟอสซิลไดโนเสาร์ตัวที่ 6 ของภูเวียง มีส่วนคล้ายกับ "แบรคิโอซอรัส" รูปร่างต่างจาก "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน" ผู้เชี่ยวชาญเชื่อเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่อาคารคลุมหลุมขุดที่ 3 ตั้งอยู่บริเวณห้วยประตูตีหมา อุทยานแห่งชาติภูเวียง อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขุดฟอสซิล และเป็นคนแรกของประเทศไทย ที่เริ่มต้นขุดฟอสซิล พร้อมด้วย นายสุธรรม วงษ์จันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเวียง และทีมนักวิจัยเรื่องฟอสซิลไดโนเสาร์ เร่งขุดหาฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นส่วนต่าง ๆ หลังพบว่าเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของภูเวียงตัวที่ 6 และลุ้นที่จะพบเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกด้วย
โดยการขุดฟอสซิลไดโนเสาร์ในหลุมขุดที่ 3 นี้ มีการเริ่มต้นขุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา หลังจากหยุดขุดไป 30 ปี และคาดว่าจะเป็นกลุ่มเดียวกับ "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน" ที่เคยขุดพบตัวแรกของภูเวียงและเป็นไดโนเสาร์ในคำขวัญประจำจังหวัดขอนแก่นด้วย
ความคืบหน้าในการขุดฟอสซิลไดโนเสาร์นั้น พบชิ้นส่วนกระดูกสันหลังส่วนกลางตัว กระดูกสันหลังส่วนคอ กระดูกซี่โครง ฟัน แต่ยังไม่พบชิ้นส่วนขาหน้าและขาหลัง คาดว่าจะอยู่ลงลึกไปอีก แต่ด้วยอุปสรรคเป็นหินที่แข็งจึงต้องใช้ความพยายามและความอดทนในการขุดอย่างต่อเนื่อง และหลุมขุดที่ 3 นี้ อยู่ห่างจากจุดที่นักสำรวจแร่ ยูเรเนียม เข้ามาเจอกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2519 ไม่ถึง 200 เมตร
...
ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขุดฟอสซิล ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ไดโนเสาร์ตัวที่อยู่ในหลุมขุดที่ 3 นี้ เราทราบชัดเจนว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด จำพวกกินพืช โดยคาดว่าจะเป็นกลุ่มภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ที่เคยขุดพบ จึงได้หยุดขุดไป 30 ปี กระทั่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดร.สุรเวช สุธีธร ซึ่งเป็นลูกชายและมีความสนใจเช่นเดียวกัน ได้ไปศึกษาเรียนจบกลับมา และพอมาดูรายละเอียดกระดูกบางชิ้นพบว่ามีความต่างจากภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน จึงได้เริ่มโปรเจกต์อีกครั้ง โดยได้งบประมาณจากกองทุนซากดึกดำบรรพ์มาเริ่มต้นขุดในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังจากหยุดขุดไป 30 ปี โดยมีนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญหลายคนมาช่วยกันขุด
แต่มีอุปสรรคเนื่องจากสภาพหินแข็งมาก แต่ก็ยังพอที่จะขุดลงลึกไปได้ จนขณะนี้พบกระดูกหลาย ๆ ชิ้นโผล่ขึ้นมามีความสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งจากที่ปีแรกเราสงสัยว่าตัวนี้ไม่น่าจะใช่ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน เนื่องจากกระดูกหลาย ๆ ชิ้นที่ขุดพบนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก กระทั่งพบว่าเป็นคนละกลุ่มกับสายพันธุ์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน และมีความใกล้เคียงกับกลุ่มอื่น ๆ และก็มีส่วนคล้ายกับแบรคิโอซอรัส ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่และรูปร่างต่างจากภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน อย่างมาก
โดยกระดูกที่ค้นพบนั้นจะมีลักษณะเด่นเฉพาะหลาย ๆ อย่าง ทั้งขนาดที่ใหญ่กว่าถึง 2 เท่า ลักษณะกระดูกซึ่งมีขนาดใหญ่มีการลดน้ำหนักต่างจากภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน คือ จะมีโพรงในกระดูกสูงมาก เพื่อที่จะทำให้กระดูกมีน้ำหนักเบาและแข็งแรง ในการจะเป็นกระดูกขนาดใหญ่และน้ำหนักไม่มากเกินไป และก็เจอจากกระดูกหลายชิ้นที่ขุดพบ ณ ขณะนี้ จึงมั่นใจว่าจะเป็นไดโนเสาร์ที่ขุดพบสายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 6 ของภูเวียง
และจากชิ้นส่วนหลาย ๆ ชิ้นที่เราพบนั้นก็จะนำไปศึกษารายละเอียดเปรียบเทียบในกลุ่มแบรคิโอซอรัสว่าจะอยู่ตรงไหนในกลุ่มเดียวกัน และมีความแตกต่างมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราก็จะสามารถสรุปได้ว่าเป็นตระกูลใหม่ หรือชนิดใหม่ของโลกด้วยหรือไม่ ตอนนี้ความเป็นไปได้สูงที่ไดโนเสาร์ตัวนี้จะเป็นสายพันธุ์ใหม่และเป็นกลุ่มใหม่ของโลกด้วย แต่จะต้องมีการศึกษารายละเอียดที่มีการค้นพบอยู่แล้วในโลกนี้ ซึ่งรายละเอียดแตกต่างมากน้อยแค่ไหน หากมีความแตกต่างมากก็จะเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลกได้
"ตอนนี้ที่เราขุดพบนั้น มองเห็นเกินครึ่งของแต่ละชิ้นแล้ว และมีโอกาสที่จะเพียงพอในการศึกษา แต่เราก็ยังอยากได้ในหลาย ๆ ส่วนที่สำคัญ เช่น หัวกะโหลก ตอนนี้เราได้ฟันของตัวนี้มาแล้วหลายชิ้น ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างมาก ซึ่งที่เรามีอยู่นี้ก็มากพอสมควร ซึ่งตอนนี้เราพบชิ้นส่วนกระดูกสันหลังส่วนกลางตัว กระดูกสันหลังส่วนคอ กระดูกซี่โครงที่มีขนาดใหญ่มาก โดยเราเปรียบเทียบกับชิ้นส่วนที่เราเคยขุดพบมาแล้วจะใหญ่มากกว่า 2 เท่า ซึ่งยืนยันแล้วว่าต่างจากที่เราพบมาแล้วทั้งหมด และมีลักษณะโครงสร้างที่มีโพรงในกระดูกแตกต่างกันชัดเจน ส่วนความยาวของตัวไม่น้อยกว่า 20 เมตร จากขนาดของกระดูก ขาหน้าสูงใหญ่ต่างจากภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน อย่างมาก ตอนนี้เรายังไม่เจอกระดูกขาหน้าขาหลังถ้ามีพวกนี้ประกอบก็จะทำให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น"
...
ทางด้าน นายสุธรรม วงษ์จันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเวียง กล่าวว่า ตั้งแต่การพบฟอสซิลชิ้นแรกในปี พ.ศ. 2519 มาจนถึงปัจจุบัน เทือกเขาภูเวียงมีการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกถึง 5 ชนิด และในหลุมขุดที่ 3 นี้รอลุ้นว่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 6 ของโลกด้วยหรือไม่
โดยฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ทีมนักวิจัยขุดพบทั้งหมดถูกนำมาจัดแสดงอยู่ที่ ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ภายใต้การดูแลของกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งการขุดค้นและศึกษาวิจัย ยังดำเนินต่อไป ภายใต้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งจากกรมทรัพยากรธรณี กรมอุทยานฯ สถาบันการศึกษา รวมทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ที่ร่วมกับภาคีเครือข่าย พยายามผลักดันให้พื้นที่อุทยานธรณีขอนแก่น หรือ "ขอนแก่น จีโอพาร์ค" ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลก โดยการรับรองจากองค์การยูเนสโก รอการประกาศในอีกไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ ซึ่งจะสอดรับกับฟอสซิลที่ขุดพบพอดี และในทุก ๆ วันจะมีนักท่องเที่ยวมาชมการขุดฟอสซิลศึกษาเส้นทางธรรมชาติทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่นนี้ก็ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาศึกษาชมธรรมชาติได้ที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง ซึ่งจะมีลานกางเต็นท์และจุดชมวิวที่ผาชมตะวันรวมทั้งมีน้ำตกให้เล่นอีกด้วย.
...