"นครพนม" ชาวบ้านคาใจ "ธนาคารน้ำใต้ดิน" จี้ อบจ.ชี้แจงประโยชน์-ความคุ้มค่า เผยพบพิรุธจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ-เจาะจงผู้รับเหมา สงสัยเอื้อนายทุนบางกลุ่ม งงแบบขุดคล้ายบ่อเลี้ยงปลา-ปักท่อพีวีซีหายใจกลางบ่อ ยันไม่ตรงปกตามป้าย-ผิดทฤษฎี พอสื่อจี้ถามชี้แจงข้อเท็จจริงกลับถูกปฏิเสธ ลั่นลุยตรวจสอบความโปร่งใส คาดภายในเดือน ส.ค.นี้ มีความคืบหน้า

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าปัญหาธนาคารน้ำใต้ดินที่ จ.นครพนม ว่า ล่าสุดยังไม่มีการออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง และยืนยันความชัดเจนเรื่องความคุ้มค่าและรายละเอียดของโครงการ สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม ฐานะเจ้าภาพหลักในการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน โดยใช้งบประมาณระหว่างปี 2565-2567 รวม 867 โครงการ ใช้เงินงบประมาณ 433,500,000 บาท เพื่อดำเนินการขุดลอกบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน หลังจากมีแกนนำชาวบ้านคือ นายวัฒนา ไตรยราช อบจ.นครพนม เขต อ.นาแก พร้อมทีมงาน ออกมาร้องเรียนให้ สตง.และ ป.ป.ช.จังหวัดนครพนม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบที่มา รวมถึงมาตรฐานการขุดบ่อ เพื่อความโปร่งใสและคุ้มค่ากับการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน เนื่องจากพบว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณมากที่สุดกว่าการพัฒนาอีกหลายด้าน และเกินความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งที่มีอีกหลายโครงการที่ชาวบ้านต้องการให้รีบมีการพัฒนามากกว่า

นอกจากนี้ชาวบ้านยังคาใจพร้อมตั้งคำถามผ่านสื่อโซเชียล กรณีพบพิรุธการขุดบ่อน้ำในวงเงินงบประมาณ บ่อละประมาณ 4.9 แสนบาท โดยใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ ตกลงราคาว่าจ้างกับผู้รับเหมาแบบเจาะจง ไม่ต้องประกวดราคา จนเกิดข้อสงสัยว่ามีการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนบางกลุ่มหรือไม่ นอกจากนี้ยังพบว่าบ่อธนาคารน้ำลักษณะเป็นบ่อเลี้ยงปลา แต่มีท่อหายใจ มีการปักท่อพีวีซีกลางบ่อ จนกลายเป็นข้อคาใจว่าใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง อีกทั้งมีการตรวจสอบพบว่าไม่ตรงตามหลักทฤษฎีของธนาคารน้ำใต้ดิน และยังพบว่ามีอีกหลายโครงการที่มีป้ายระบุโครงการไม่ตรงกับปริมาณงาน รวมทั้งไม่ตรงกับพื้นที่ขุดบ่อจริง โดยทางสื่อมวลชนพยายามติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บริหาร อบจ.นครพนม เพื่อมายืนยันและชี้แจงข้อเท็จจริง แต่กลับถูกปฏิเสธอย่างไม่มีเหตุผล

...

ด้าน นายวัฒนา ไตรยราช ในฐานะแกนนำชาวบ้าน รวมถึง ส.อบจ.นครพนม เขต อ.นาแก กล่าวยืนยันว่าจะเดินหน้าเก็บข้อมูลตรวจสอบความโปร่งใสเสนอหน่วยงานระดับจังหวัด รวมถึง สตง.นครพนม ไปจนถึง ป.ป.ช.นครพนม เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ไม่เป็นที่คาใจต่อพี่น้องประชาชน ในการใช้งบประมาณกว่า 430 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน คาดว่าภายในเดือน ส.ค.นี้จะมีความคืบหน้าการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายวัฒนา กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจากการศึกษาทฤษฎีหลักการขุดบ่อน้ำธนาคารน้ำใต้ดิน พบว่ามี 2 แบบ คือ 1.แบบปิด ส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมขังตามชุมชนหมู่บ้าน ส่วนแบบที่ 2.จะเป็นแบบเปิด คือจะต้องผ่านการสำรวจและประเมินความเหมาะสมหาพื้นที่ขุดบ่อตามหลักทฤษฎีทุกด้าน หากไม่มีการสำรวจความเหมาะสม จะถือว่าไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากหลักธนาคารน้ำใต้ดินจะต้องขุดบ่อจนถึงชั้นดิน เพื่อใช้แรงดันธรรมชาติดึงน้ำลงใต้ดิน ไม่ใช้การขุดบ่อน้ำแล้วนำท่อพีวีซีมาปักกลางบ่อตามที่พบดังกล่าว

"ตนไม่พูดว่าใครผิดใครถูก แต่ที่มีการดำเนินการเชื่อว่าไม่ตรงตามหลักทฤษฎี และอยากให้ผู้บริหาร อบจ.นคพรนม ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าว เพื่อยืนยันต่อประชาชนหรือหากทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ก็ควรระงับโครงการดังกล่าว เนื่องจากทราบว่าสภา อบจ.นครพนม มีการเสนองบปี 2568 เพื่อดำเนินการขุดบ่อธนาคารน้ำอีกหลายโครงการ" นายวัฒนา กล่าว.