ในอดีตนกกระเรียนไทยมีอยู่อย่างชุกชุม อยู่ร่วมกับคนและผืนไร่นาของบ้านสวายสอ ต.สะแกโพรง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ มานานหลายปี

จนเมื่อเกิดการหักร้างถางพง ใช้สารเคมีทำเกษตรกันมากขึ้น บ้างก็ถกจับมาทำอาหาร นกกระเรียนค่อยๆหายไป จนเชื่อกันว่าสูญพันธุ์ไปจากแผ่นดินไทยแล้ว ต่อมาองค์การสวนสัตว์ได้เพาะพันธุ์นกกระเรียนไทยได้สำเร็จ ปี 2554 จึงจัดตั้งโครงการทดลองปล่อยนกกระเรียนคืนถิ่น นกกระเรียนจึงค่อยๆเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันเท่าที่สำรวจพบมีกว่า 100 ตัว...แต่ยังติดปัญหาที่นกกระเรียนมักชอบมากินเมล็ดข้าวออกรวง และทำรังขนาดใหญ่ 2-3 เมตร บนพื้นดิน ชาวบ้านจึงไม่พอใจ และไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์

เดชะบุญที่ได้ผู้นำในพื้นที่เข้มแข็ง มีจิตอาสา ทุกอย่างจึงลงตัว ชาวบ้านอยู่คู่กับนกกระเรียนได้ จนที่นี่กลายเป็นแห่งเดียวในประเทศ ที่พบนกกระเรียนตามธรรมชาติ และถือเป็นแห่งเดียวของประเทศที่มีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รักษาสมดุล ของธรรม ชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เชื่อมโยงในแปลงนาข้าวอินทรีย์ ได้อย่างน่าทึ่ง

...

“ผมเริ่มทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2547 ทำเพียงครอบครัวเดียวจนชาวบ้านหาว่าบ้า เพราะได้ผลผลิตน้อยจากนั้นปรับสูตรจนประสบความสำเร็จ กระทั่งปี 2554 มีโครงการปล่อยนกกระเรียนคืนถิ่น นกกระเรียนตัวแรกจึงมาปรากฏละแวกแปลงของผม ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 50 ปี ที่ได้พบนกกระเรียนตามธรรมชาติอีกครั้ง จึงชักชวนให้เพื่อนบ้านทำข้าวอินทรีย์เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์นกกระเรียนให้อยู่คู่ผืนนาบ้านเราอีกครั้ง ต่อยอดสู่การเก็บเมล็ดพันธุ์เอง แปรรูป พัฒนาสู่การรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน แปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร”

นายทองพูน อุ่นจิตต์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ บอกถึงที่มาของข้าวอินทรีย์ ที่เอื้อต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นแห่งเดียวในประเทศที่พบเห็นนกกระเรียนได้ตามธรรมชาติ

หลังทำนาอินทรีย์ประสบความสำเร็จ ปี 2557 จึงเริ่มรวบรวมสมาชิก 20 ราย จัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง ปี 2559 จดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ปี 2560 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ข้าว หมู่ที่ 7 บ้านสวายสอ สมาชิกรวม 100 ราย พื้นที่ปลูกกว่า 1,900 ไร่ ในจำนวนนี้มีสมาชิกที่ได้รับมาตรฐานข้าวอินทรีย์ออร์แกนิก ไทยแลนด์ 40 ราย พื้นที่ปลูก 319 ไร่

ต่อมากรมการข้าวเข้ามาสนับสนุนหลายเรื่อง ทั้งการออกแบบแพ็กเกจจิ้ง สร้างแบรนด์ภายใต้สัญลักษณ์ “ข้าวสารัช” หรือ “SARUS RICE” ตามชื่อทั่วไปของนกกระเรียนพันธุ์ไทย (Eastern Sarus Crane) สนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากข้าวกล้องงอกผง 4 ชนิด โดยทุกผลิตภัณฑ์ล้วนมีนกกระเรียนเป็นตราสัญลักษณ์ ส่วนด้านการตลาดสนับสนุนให้เข้าโครงการข้าวตลาดเฉพาะรวมทั้งการประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ

...

“ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้คนหมู่มากทำตามแบบเรา แต่สุดท้ายเมื่อเขารู้ว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษ แต่ก็มีข้อตกลงร่วมกัน อาทิ ใครถูกนกกระเรียนทำนาข้าวเสียหายจะได้รับเงินชดเชยจากหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุน ทุกอย่างก็ง่ายขึ้น จากนั้นเราก็พัฒนาสู่การรับซื้อฟางข้าว กก.ละ 100 บาท นำมาทำของชำร่วย และหุ่นนกกระเรียน ออกงานตามสถานที่ต่างๆ ต่อยอดสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและนิเวศ และโฮมสเตย์ โดยมีนกกระเรียนเป็นจุดขายในอนาคตอันใกล้นี้”.

กรวัฒน์ วีนิล

อ่าน ข่าวเกษตร เพิ่มเติม