กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจงกรณีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลฯ ไม่ได้รับเงินสวัสดิการ สาเหตุเพราะมีลักษณะเข้าข่ายธุรกิจประกันชีวิต

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลฯ โวยไม่ได้รับเงิน 5 โครงการสวัสดิการ หลังสหกรณ์จังหวัดสั่งหยุดจ่ายนั้น สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี ได้ตรวจสอบพบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด จัดสวัสดิการหรือตั้งกองทุนสวัสดิการต่างๆ โดยมีสวัสดิการ 5 สวัสดิการ ได้แก่ 1. สวัสดิการสงเคราะห์สมาชิก และครอบครัวสมาชิก โครงการ 1 หรือ ส.ค.ส. 1 2. โครงการสวัสดิการ ส.ค.ส. 2 3. โครงการสวัสดิการ ก.ส.ค. 4. โครงการสวัสดิการ ก.น.ส. และ 5. โครงการสวัสดิการ ร่มเกล้าไทรทอง ซึ่งหลักเกณฑ์การจ่ายเงินแก่สมาชิกที่เข้าร่วมทั้ง 5 โครงการนั้น มีลักษณะเข้าข่ายธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งสหกรณ์ฯ ไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจลักษณะเช่นนี้ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535

สหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์ ปฏิบัติการแทนนายทะเบียนสหกรณ์ จึงมีคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ (อบ) 22/2566 สั่ง ณ วันที่ 27 ก.พ. 2566 ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด ชุดปัจจุบัน ระงับการจ่ายเงินสวัสดิการโครงการทั้ง 5 ไว้ก่อน เพื่อให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ภาค 5 ซึ่งเป็นหน่วยงานตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 วินิจฉัยว่าสวัสดิการทั้ง 5 โครงการเข้าลักษณะธุรกิจประกันชีวิตหรือไม่ และการดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวจะผิดกฎหมายหรือไม่อย่างไร เพื่อจะได้นำแนวทางตามข้อหารือไปแนะนำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด ถือปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป

...

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด ได้ขอหารือแนวทางการจ่ายคืนเงินแก่สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดฯ ได้มีหนังสือตอบข้อหารือแล้วว่า หากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ภาค 5 มีคำวินิจฉัยว่าสหกรณ์ฯ ไม่สามารถดำเนินการตามสวัสดิการได้ สหกรณ์ฯ สามารถถอนเงินสวัสดิการของสมาชิกที่โอนเข้าเป็นทุนสำรองของสหกรณ์ได้เป็นไปตามแนวทางที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้เคยให้แนวทางการจ่ายคืนเงินที่รับบริจาคเข้ากองทุนสำรองของสหกรณ์ว่าการนำเงินสมทบของสมาชิกเข้ากองทุนสำรอง ไม่ถือเป็นเงินอุดหนุน และไม่เป็นเงินที่มาจากการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี สหกรณ์จึงสามารถถอนเงินของผู้เข้าร่วมโครงการจากทุนสำรองคืนให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ โดยไม่ต้องห้ามตามมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับวิธีปฏิบัติทางบัญชีสหกรณ์ต้องโอนกลับบัญชีทุนสำรองกับบัญชี...(ที่รับเงินบริจาคมาครั้งแรก) ซึ่งสหกรณ์ได้บันทึกไว้เมื่อโอนทุนดังกล่าวเข้าทุนสำรองของสหกรณ์ และเมื่อสหกรณ์จ่ายเงินคืนให้กับสมาชิกให้บันทึกลดยอดบัญชี...(ที่รับเงินบริจาคมาครั้งแรก) และให้สหกรณ์เปิดเผยข้อมูลไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ซึ่งขณะนี้สหกรณ์ฯ ยังไม่ได้มีการจ่ายคืนเงินบริจาคแก่สมาชิก เนื่องจากรอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ภาค 5

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา สหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด ณ ห้องประชุมสหกรณ์ฯ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และเหตุผลในการมีคำสั่งให้สหกรณ์ฯ ระงับโครงการดังกล่าวให้แก่ผู้แทนสมาชิกได้รับทราบ เพื่อให้เข้าใจ และนำข้อมูลไปถ่ายทอดแก่สมาชิกในสังกัดต่อไป.