"ทัพภาค 2" พบ "ช้างเผือก" เด็กเรียนดีแต่ยากจน "น้องเจ๋ง" สอบติด 4 เหล่า ได้ที่ 1 ทั้ง ทบ. ทร. ทอ. ส่วนตำรวจได้ที่ 8 ถือเป็นเพชรเม็ดงามจากแดนอีสาน แต่เลือกเข้า นายร้อย จปร. ขณะที่ครอบครัวไม่มีเงินมอบตัว ด้าน "แม่ทัพภาคที่ 2" ยื่นมือเข้าช่วยเหลือมอบทุนการศึกษา พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่าย สลดวันมอบตัวพ่อขับสิบล้อของบริษัทพาลูกไป จปร.

วันที่ 10 ส.ค.64 จากกรณีกองทัพภาคที่ 2 ได้โพสต์ภาพและข้อความว่า "#ความจนไม่ใช่อุปสรรคการเรียนสอบเข้าโรงเรียนเตรียมฯอันดับ1 ทบ. ทอ. ทร. อันดับ 8 ในส่วน ตร. แม่ทัพภาคที่ 2 หนุนเต็มที่ มอบเงินในการมอบตัวเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร ของ นายธรากร ทองหนูนุ้ย อายุ 17 ปี เกิดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2547 เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมปีที่ 4 ของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี โดยอาศัยอยู่ที่ ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ บิดาชื่อ นายประเทือง ทองหนูนุ้ย อายุ 53 ปี กับนางสาวรดาชา ถุงสูงเนิน อายุ 45 ปี ซึ่งประกอบอาชีพรับจ้างขับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ส่วนมารดาประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ซึ่งน้องคนนี้สามารถสอบเข้า โรงเรียนเตรียมทหาร ได้ที่ 1 เกือบทั้ง 3 เหล่า และได้ตัดสินใจเลือกเหล่าทหารบก ไม่มีแม้กระทั่งเงินจะมอบตัว จากสภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างยากจน สมควรที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชน ในความพากเพียรพยายามถึงแม้จะขาดแคลนทุนทรัพย์ พล.ท.ธเนศ วงศ์ชะอุ่ม แม่ทัพภาคที่ 2 จึงได้มอบทุนการศึกษาและค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในวันมอบตัวครั้งนี้" ซึ่งเมื่อข้อความถูกเผยแพร่ลงไปในโลกโซเชียลมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นชมเชยและแชร์โพสต์นี้เป็นจำนวนมาก

...


ผู้สื่อข่าวจึงได้สอบถามไปยัง ประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่ 2 ทราบว่า พล.ท.ธเนศ วงศ์ชะอุ่ม แม่ทัพภาคที่ 2 ได้ให้การช่วยเหลือเด็กเก่งวัย 17 ปี คนนี้แล้ว โดยทางศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่ 2 ได้นำมาลงเพจ กองทัพภาคที่ 2 เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ได้รับรู้ถึงความอดทน ขยันหมั่นเพียร

ก่อนหน้านี้เมื่อปลายปี 2547 พ่อแม่ของนายธรากร ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานโรงแรมที่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ และย้ายมาทำอาชีพค้าขายต้นกล้ายางพาราที่จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่อายุได้ 6 เดือน โดยทำการเช่าที่และสร้างที่พักชั่วคราวขึ้นมาเพื่ออยู่อาศัย ในช่วงแรกเป็นเพียงแค่กระท่อมมุงจาก ซึ่งไม่มีความแข็งแรง ซึ่งอาศัยพื้นปูนเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาโดนพายุพัดพังเสียหายทั้งหลัง จึงได้ย้ายมาสร้างแห่งใหม่ ช่วงแรกไม่มีพื้นปูนเป็นเพียงพื้นดินอัดแน่นเท่านั้น มีการเทปูนเพิ่มในภายหลัง ที่พักมีลักษณะเป็นกระท่อมไม่มีเลขที่ จึงไม่สามารถขอหม้อแปลงไฟฟ้าได้ ต้องอาศัยการต่อมาจากหม้อแปลงของศูนย์ส่งเสริมอาชีพ ต.กระหวัน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ที่อยู่ใกล้ๆ อีกทั้งอยู่ห่างไกลจากตัวหมู่บ้านทำให้ไม่มีน้ำประปาใช้ต้องอาศัยการกักเก็บน้ำฝนและน้ำจากลำห้วยข้างเคียงเท่านั้น โดยบ้านเลขที่ที่อยู่ในทะเบียนบ้านนั้นเป็นบ้านเช่าที่เจ้าของเดิมได้ขายต่อและรื้อไปนานแล้ว ต่อมาในช่วงปี 2559 ธุรกิจค้าต้นกล้ายางพาราซบเซาอย่างหนัก และขาดทุนเป็นอย่างมาก ครอบครัวจึงหันมาทำอาชีพขับรถรับจ้างแทน

โดย นายธรากร สามารถสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร ได้ที่ 1 เหล่า ทบ. ทร. ทอ. ส่วน ตร. ได้ลำดับที่ 8 และได้ตัดสินใจเลือกเหล่าทหารบก เนื่องจากสถานภาพครอบครัวยากจน ไม่มีแม้กระทั่งเงินที่จะเข้ามอบตัว ที่โรงเรียนเตรียมทหาร แม่ทัพภาคที่ 2 จึงได้สนับสนุนเงินทุนการศึกษาและเงินในการมอบตัวดังกล่าว ซึ่งวันที่เดินทางไปรายงานตัวนั้น ยังต้องใช้รถยนต์บรรทุกของบริษัทที่พ่อของ นายธรากร ทำงานอยู่ ใช้ในการเดินทางไป นอกจากนี้แม่ทัพภาคที่ 2 ได้สั่งการให้ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 6 เข้าไปดูแลสภาพที่พักอาศัยให้กับผู้ปกครองของ นายธรากร เพื่อช่วยเหลือและปรับปรุงต่อไป.