นักวิจัยปรสิตวิทยา มทส.เตือนระวังพยาธิ จากการทานปลา กุ้ง หอย ดิบ แนะทำให้สุกก่อนรับประทาน ชี้ พบพยาธิใบไม้ในเนื้อปลาช่อน ยังไม่แน่ชัด แต่อาจเป็นพยาธิใบไม้ ย้ำ ปลาร้า ปลาส้ม กินสุกปลอดภัย 

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.64 จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยโรคปรสิต parasitic disease research center ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า "พยาธิใบไม้ในเนื้อปลาช่อน สองสามวันก่อนมีภาพจุดดำๆ ในเนื้อปลาช่อน ก็มีถามมาหลายท่านว่าคืออะไร เราเองก็คงระบุได้ยากว่าคืออะไร ต้องนำมาดูด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อให้ละเอียด แต่ก็มีคลิปอยากแนะนำให้ดู ที่ช่อง HD มักเลาะ Channel ที่จับปลาช่อนมาได้แล้วหั่นเจอพยาธิ ซึ่งเทียบเคียงแล้ว สิ่งแปลกปลอมก็คล้ายๆ กับที่พบในปลาของข่าวข้างบน จริงๆ แล้วปลาช่อนมีพยาธิหลายชนิด แต่ส่วนมากจะพบที่ลำไส้ อาทิ พยาธิใบไม้ พยาธิตัวกลม (ตัวจี๊ด) พยาธิหัวหนาม พยาธิตัวตืด ที่กล้ามเนื้อก็พบบ้าง อาทิ พยาธิใบไม้ Euclinostomum heterostomum พยาธิตัวจี๊ด Gnathostoma spp ถ้าท่านไม่กินเนื้อปลาช่อนดิบ ทำให้สุก ก็ปลอดภัย

ผู้สื่อข่าวจึงได้สอบถามไปยัง ผศ.ดร.ณัธคพัชฬ รัตนพิทูลย์ นักวิจัย ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า สำหรับภาพและคลิปวิดีโอที่เผยแพร่อยู่ในโลกโซเชียลดังกล่าวไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นพยาธิหรือปรสิตชนิดใด เนื่องจากเจ้าของภาพและคลิปไม่ได้ส่งตัวอย่างมาให้ตรวจ แต่สำหรับพยาธิในปลาช่อน มีพยาธิใบไม้ พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืดและพยาธิหัวหนาม ส่วนใหญ่พยาธิเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในลำไส้ หรือตามเหงือกของปลา

...

นักวิจัยศูนย์วิจัยโรคปรสิต กล่าวว่า สำหรับพยาธิที่เห็นชอนไชอยู่ตามกล้ามเนื้อของปลาก็ คือ พยาธิใบไม้ ตัวพยาธิชนิดนี้จะเข้าไปอยู่ในเนื้อปลา เป็นลักษณะก้อนซีสต์หรือเยื่อหุ้มสีดำ สำหรับพยาธิใบไม้ที่พบในปลาช่อน ตามข้อมูลที่ผ่านมายังไม่มีรายงานว่าพบการก่อโรคในคน อย่างไรก็ตาม หากเรานำมาปรุงอาหารสุก พยาธิเหล่านี้ก็จะกลายมาเป็นโปรตีนแทน ไม่ก่อให้เกิดอันตราย

ผศ.ดร.ณัธคพัชฬ กล่าวต่อว่า ขอฝากเตือนประชาชนที่ชอบรับประทานกุ้ง หอย ปลาร้า ปลาส้ม ไม่ควรรับประทานแบบดิบๆ ควรปรุงให้สุก เนื่องจากในอาหารดังกล่าวมีพยาธิที่เป็นอันตรายอยู่ โดยกุ้งฝอยที่นิยมมาทำเมนูกุ้งเต้นจะมีพยาธิตัวจี๊ด ซึ่งเป็นพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่ง และกุ้งภูเขา หรือ กุ้งล็อบสเตอร์จะมีพยาธิใบไม้ปอด หากรับประทานแบบดิบๆ เสี่ยงติดเชื้อจากพยาธิเหล่านี้ เป็นอันตรายต่อร่างกายได้

...

นักวิจัยศูนย์วิจัยโรคปรสิต มทส. กล่าวอีกว่า สำหรับพยาธิที่อยู่ในหอย โดยเฉพาะหอยน้ำจืด หากรับประทานแบบดิบๆ อาจติดเชื้อจากพยาธิต่างๆ เช่น พยาธิใบไม้ พยาธิตัวกลม และพยาธิหอยโข่ง ซึ่งพยาธิหอยโข่งสามารถทำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ ส่วนคนที่ชอบรับประทานปลาดิบ ปลาร้าดิบ ปลาส้มดิบ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อพยาธิต่างๆ แต่สำหรับปลาร้า มีงานวิจัยระบุว่า หากใช้ความเค็มมากกว่า 10% และมีระยะเวลาในการหมักปลาร้านานกว่า 3 เดือนขึ้นไป จะสามารถฆ่าพยาธิ การรับประทานจึงค่อนข้างที่จะปลอดภัย

"หากจะเลือกรับประทานปลาร้าให้ปลอดภัย ควรต้องต้มให้สุก แต่หากจะรับประทานปลาร้าดิบ ควรเลือกปลาร้าที่หมักเกิน 1 ปี หรือซื้อปลาร้าที่มี อย. สำหรับที่น่าเป็นห่วง คือ ปลาส้ม เนื่องจากระยะ 3-4 วัน ก็นำมารับประทานแล้ว มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิมากกว่า จึงแนะนำให้ปรุงสุกเพื่อความปลอดภัย" ผศ.ดร.ณัธคพัชฬ กล่าว