ไวรัสระบาดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ทำโคราชวิกฤติ ทั้งม้า คนเลี้ยงม้า คอกม้า นั่งไม่ติด หลังพบตายเพิ่มอีก 2 ตัวรวมเกือบ 200 ตัว ผู้ว่าฯ นครราชสีมา ต้องออกประกาศเขตควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ขณะที่ ปศุสัตว์จังหวัด เร่งเจาะเลือดม้าป่วยหาสารพันธุกรรม

เมื่อวันที่ 11 เม.ย.63 ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ นครราชสีมา ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 และโรคไวรัสอื่นๆ พร้อมกับเปิดเผยถึงการตายของม้าจำนวนมากในพื้นที่อำเภอปากช่องฯ ว่า ตั้งแต่ม้าตายช่วงวันแรกๆ ตนได้ติดตามสถานการณ์และทราบจากปศุสัตว์จังหวัดฯ ได้ส่งตัวอย่างเชื้อไปให้สำนักงานควบคุมโรคระบาดที่กรมปศุสัตว์ตรวจสอบเพาะเชื้อ จนมีความชัดเจนว่า เป็นโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ในพื้นที่ อ.ปากช่องฯ และมีม้าล้มตายจำนวนมาก เท่าที่ได้รับรายงานมีมากถึง 117 ตัว

"เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นที่ฟาร์มม้าจำนวน 20 แห่ง ในเขต ต.ขนงพระ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีเพาะพันธุ์ม้าแข่งชื่อดังของประเทศไทย สาเหตุเกิดจากตัว ริ้น ไร ยุง ซึ่งเป็นพาหะดูดเลือดม้า และไปกินเลือดตัวอื่นๆ และแพร่เชื้อไปทำให้มีม้าตายจำนวนมาก โดยทางปศุสัตว์อำเภอปากช่องฯ ได้ประกาศเขตควบคุมโรคระบาดม้าในพื้นที่ แต่เนื่องจากเกรงว่าจะระบาดไปพื้นที่อื่นๆ ของ จ.นครราชสีมา ผมจึงได้ออกประกาศเขตควบคุมการแพร่ระบาดของโรคชนิดนี้ในม้าใน จ.นครราชสีมา มีผลว่าการจะเคลื่อนย้ายม้าหรือซากม้า หรือลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น อูฐ, ล่อ, ลา เข้ามาในพื้นที่ต้องได้รับการอนุญาตและได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ก่อน" ผู้ว่าฯ นครราชสีมากล่าว

...

นายวิเชียร กล่าวต่อว่า ส่วนที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นห่วงเรื่องนี้ ทางกรมปศุสัตว์กำลังขออนุมัติในการจัดซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ ฉะนั้นตอนนี้ก็ให้การรักษาและการป้องกันในม้าตามแนวทางที่มีอยู่คือ ไม่ให้ม้าโดนริ้นหรือไรกัด ซึ่งจะเป็นการนำโรคมา ขณะเดียวกันมีการทำความสะอาดคอกม้า และการห้ามไม่ให้นำม้าออกนอกพื้นที่ ไม่ให้นำม้าไปอาบน้ำ โดยให้ปล่อยม้าหลังจากแดดจ้า ตอนนี้เป็นการป้องกันและรักษาตามอาการโดยให้ม้านอนในมุ้ง

ด้านนายพศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า วันนี้เราได้ทำการเจาะซีรั่ม คือ เจาะเอาตัวอย่างเลือดม้าตัวป่วยไปหาสารพันธุกรรม ซึ่งถ้ามีม้าตัวไหนป่วยผู้เลี้ยงเขารู้ดีอยู่แล้ว ถ้ามีป่วยจะแยกออกมา แล้วถ้ามีม้าตายก็ทำการขุดหลุมฝังกลบทันที ทุกฟาร์มรับทราบในมาตรการเราทุกฟาร์ม โดยเจาะได้จำนวน 110 ตัว และการเจาะตรงนี้เราจะศึกษาวิจัยด้วย ถึงขนาดว่าถ้าดูภายนอกไม่ป่วย แต่จริงๆ ป่วยหรือไม่ เจอเชื้อหรือไม่ และเราวัดอุณหภูมิม้าด้วยว่าอุณหภูมิปกติ 38 - 38.5 องศาฯ ขนาดนี้เจอเชื้อหรือเปล่า ตลอดจนให้นักวิชาการศึกษาถึงขั้นมีการใช้วัคซีนด้วย เราถือโอกาสนี้เป็นการเซตระบบของม้าก็ว่าได้ เพราะเนื่องจากเป็นการเกิดโรคนี้ครั้งแรก ถ้าม้าป่วยประมาณ 39-39.5 องศาฯ ขึ้นไป

"เราอยากจะให้ผู้เลี้ยงได้สังเกตออกว่ามีความสัมพันธ์กับอาการภายนอกที่เห็นหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ตรวจตอนนี้มีม้าป่วยประมาณ 15 ตัว และวันนี้ได้รับแจ้งตายเพิ่มอีก 2 ตัว จากเดิม 117 ตัวจนถึงวันนี้มีม้าตายแล้ว เกือบ 200 ตัว พอม้าตายปุ๊บเรากลัวแมลง โดยเฉพาะแมลงวันมาตอม ฉะนั้นเราจะฝังม้าที่ตายนี้ทันที ส่วนวัคซีนนำเข้าจากต่างประเทศตรงนี้อยู่ในขั้นตอนของกรมปศุสัตว์ แต่ถ้าวัคซีนมาถึงเราจะดำเนินการฉีดให้ม้าทันที วัคซีนเป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่จะต้องควบคุม ส่วนกลางจะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับม้า" ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมากล่าว

ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวด้วยว่า ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของกรมปศุสัตว์กำลังพูดคุยหารือกับผู้เลี้ยงม้าอยู่ ส่วนการกางมุ้งให้ม้าเราทำเกือบทุกรายแล้ว อ.ปากช่อง มีผู้เลี้ยงม้า 46 ราย และทำมุ้งได้ครบทุกคอกในฟาร์มม้า ซึ่งตอนนี้มี 6-7 ฟาร์มไม่พบโรคในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่พบตัวป่วย ตัวตายเลย สถานการณ์ดีขึ้น หลังจากที่ทุกคนได้ทำมุ้ง ตลอดจนไล่แมลงไปด้วย หลายคนใช้น้ำส้มควันไม้ ยาไล่แมลง ฉะนั้นเนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสการดูแล เรื่องสุขาภิบาล การไม่ใช้ของร่วมกันในระหว่างสัตว์ป่วยกับสัตว์ที่ปกติ แยกคนเลี้ยง แยกคนดูแล แม้แต่คนรักษาตนยังต้องแยก 2 ทีม ทีมไปดูสัตว์ปกติทีมหนึ่ง ทีมไปดูสัตว์ป่วยอีกทีมหนึ่ง เพราะเชื้อพวกนี้สามารถติดต่อในระหว่างม้าด้วยกันโดยอาศัยแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ.

...