ประมง จ.นครพนม ระดมตักปลานิลน็อกน้ำกว่า 300 ตัน ขึ้นจากกระชังไปทิ้งฝังกลบ เกษตรกรสุดช้ำฝันสลาย สูญเงินรวมกว่า 20 ล้าน บางรายเป็นหนี้เพิ่มหลายล้าน ขณะที่รัฐไม่มีเกณฑ์ช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 นายสำราญ รื่นนาค ประมงจังหวัดนครพนม ประสานงานร่วมกับ พ.อ.ชวลิต พบจันอัด ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 22 อ.นาแก หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา รวมถึง ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกี่ยวข้อง นำเครื่องจักร รถแบ็กโฮ เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร เลี้ยงปลากระชัง ในลำน้ำน้ำสงคราม ในพื้นที่ บ้านหาดกวน ต.ไชยบุรี จ.นครพนม ที่ได้รับผลกระทบ จากพายุฤดูร้อนทำให้ฝนตกหนักช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปลานิลในกระชัง ของเกษตรกร ขาดออกซิเจนน็อกน้ำตาย โดยจากการสำรวจ เฉพาะในพื้นที่ บ้านหาดกวน ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม มีปลานิล ในกระชัง น็อกน้ำตาย เกือบ 200 ตัน และยังมีเกษตรกร ในพื้นที่ อ.นาหว้า อ.ศรีสงคราม ได้รับความเสียหาย จากปลานิล น็อกน้ำตาย ไม่ต่ำกว่า 100 ตัน

...

ล่าสุดทางเจ้าหน้าที่ต้องระดม นำรถแบ็กโฮ มาตักปลาในกระชัง ขึ้นไปฝังกลบทำลาย เนื่องจากทางประมงจังหวัดนครพนม ไม่แนะนำให้นำไปจำหน่าย หรือแปรรูปเป็นอาหาร ทำปลาร้า แต่ยังมีเกษตรกร บางส่วน นำไปทำปลาร้า รวมถึงนำไปเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ แต่เนื่องจากปลานิลมีจำนวนมาก กว่า 200 ตัน ไม่สามารถนำไปทำได้ทั้งหมด อีกทั้งเริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็น เกิดมลพิษทางน้ำ จึงต้องเร่งฝังกลบทำลาย

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ จากการตรวจสอบข้อมูลของหน่วยงานประมงจังหวัดนครพนม รวมถึง หน่วยงานเกี่ยวข้อง เกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือ พบว่า ตามระเบียบราชการยังไม่สามารถชดเชยเยียวยาได้ เพราะไม่เข้าระเบียบหลักเกณฑ์ เบื้องต้นเกษตรกรต้องช่วยเหลือตนเอง รอหารหารือจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะช่วยเหลือได้เพียงการนำรถแบ็กโฮ มาช่วยตักปลาที่ตายไปฝังกลบ รวมถึงหาแนวทางจัดหาพันธ์ปลามาช่วยเหลือในระยะยาว

ผู้เลี้ยงปลาบางรายได้รับความเสียหายหนัก ต้องขาดทุนหลายล้านบาท บางรายต้องเป็นหนี้เพิ่ม 1-2 ล้านบาท หวังว่าจะนำเงินจากการขายปลา ไปจ่ายชำระหนี้สินต้นทุนในการเลี้ยง แต่สุดท้ายปลานิลในกระชังน็อกน้ำตายกะทันหัน เพราะส่วนใหญ่เป็นปลาขาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 1-1.2 กิโลกรัม รอการส่งขายสู่ตลอด ที่สำคัญทางประมงจังหวัดนครพนม ยังได้แจ้งเตือนเกษตรกร ให้ชะลอการเลี้ยง และเร่งนำปลาส่งขายตลาด ป้องกันความเสียหายซ้ำอีก และหมั่นตรวจสอบปริมาณปลากระชังไม่ให้แออัด ที่จะกระทบต่อปริมาณออกซิเจน จนเกิดอาการน็อกน้ำตามมา เนื่องจากช่วงนี้ยังมีแนวโน้มเกิดพายุฝนตกลงมาซ้ำอีก.