ช่วงนี้ขับรถผ่านแถวๆพื้นที่อีสานใต้ ไล่ยาวไปตั้งแต่บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยันอุบลราชธานี มักพบตามแผงผลไม้ข้างทาง นำผลไม้ป่าออกมาวางขายจำนวนมาก
ของหายากหนึ่งในนั้น “หมากผีผวน” จะมีออกมาให้เปิบตั้งแต่กลางเดือนกันยายนไปถึงกลางเดือนตุลาคม
ชื่ออื่นๆมีตั้งแต่นมควาย (ภาคใต้), นมแมวป่า (เชียงใหม่), หำลิง (ตะวันออกเฉียงเหนือ), ติงตัง (นครราชสีมา), ตีนตั่งเครือ (อุบลฯ ศรีสะเกษ), พีพวน (อุดรธานี), สีม่วน (ชัยภูมิ)
เป็นไม้ในตระกูลกระดังงา พบทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ มีลักษณะเป็นไม้พุ่มเลื้อย ลำต้นสูง 4-6 เมตร กิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยวสลับรูปวงรีหรือรูปไข่ ผิวใบมีขนสีน้ำตาลแดงทั้งสองด้าน กว้าง 2.5-3.5 ซม. ยาว 4.5-10 ซม. ดอกออกเป็นกระจุก 2-3 ดอกที่กิ่งก้าน กลีบดอกสีแดงเข้ม มีกลิ่นหอมแรงเวลากลางคืน
ผลออกเป็นกลุ่มรูปไข่หรือไข่กลับ ขนาดผลเท่าลูกตำลึง ปกคลุมด้วยขนหนาแน่น ขนาดยาว 2-3 ซม. แต่ละช่อมี 4-20 ผล เมื่อยังอ่อนสีเขียว ก่อนจะกลายเป็นสีเหลือง และเมื่อแก่จะมีสีแดงเข้ม ส่วนเนื้อข้างในผลสีขาวขุ่นหุ้มเม็ดในสีดำไว้ ก้านผลยาว 1-4 ซม. มีเมล็ด 10-20 เมล็ด
ผลอ่อนตำผสมน้ำทาแก้เม็ดผดผื่นคัน เมื่อสุกมีรสชาติเปรี้ยวรับประทานได้ โดยต้องปอกเปลือกออก และเปิบได้ทั้งเมล็ด เนื่องจากเนื้อและเมล็ดติดกัน สามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
สรรพคุณทางยา แก่นต้มน้ำดื่ม แก้ไข้สลับไข้ซ้ำ เนื่องจากกินของแสลง รากใช้แก้ผอมแห้งแรงน้อยสำหรับสตรีที่อยู่ไฟไม่ได้หลังการคลอดบุตร และช่วยบำรุงน้ำนม
ปัจจุบันหมากผีผวนเริ่มมีจำนวนลดลง เพราะไม่ค่อยมีชาวบ้านนิยมปลูกกันสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ต้องไปหาเก็บกินตามป่า ตามดง โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนไทยกับกัมพูชา.
...