สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 สถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์ เร่งเสริมสร้างความรู้การใช้หญ้าแฝก ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน โดยเฉพาะดินที่มีลักษณะเป็นดินทราย จะมีการชะล้างพังทลายสูงในช่วงฤดูฝน แนะปลูกบริเวณขอบสระจะช่วยได้มาก พร้อมแนะนำวิธีการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกอย่างถูกวิธี
นายรพีพงศ์ หน่วยจันทึก นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์ กล่าวว่า ลักษณะดินพื้นที่ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ จะเป็นที่ลุ่ม เป็นดินทราย ความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาการชะล้างพังทลายของดินอย่างมาก และเนื่องจากในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ได้ถูกประกาศให้เป็นวันดินโลก ซึ่งในปี 2562 นี้ ได้มีการจัดงานวันดินโลก ภายใต้หัวข้อ stop soil erosion save our future คือการปกป้องอนาคตป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 ก็ได้มีการส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ตระหนักถึงการชะล้างพังทลายของดินว่าสร้างความเสียหายโดยเฉพาะการพัดพาตะกอนดิน พัดพาหน้าดินหรืออินทรียวัตถุออกจากพื้นที่ ซึ่งทำให้เกษตรกรแต่ละปีสูญเสียหน้าดินเป็นอย่างมาก
...
โดยสร้างความตระหนักรู้ให้กับพี่น้องเกษตรกรด้วยการใช้หญ้าแฝก ซึ่งเป็นพืชที่ช่วยในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะหญ้าแฝกที่ปลูกในที่ลุ่ม และพื้นที่ตรงนี้ก็คือพันธุ์สงขลา 3 ซึ่งพี่น้องเกษตรกรสามารถนำมาปลูกริมขอบสระเพราะสระน้ำในไร่นาของกรมพัฒนาที่ดินมีขุดอยู่ทั่วไป และพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่ก็เริ่มรู้แล้วว่าการป้องกันไม่ให้ดินชะล้างพังทลาย หรือไปทำให้สระน้ำตื้นเขินจะต้องทำอย่างไร โดยมีเจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดินทุกแห่งเข้าไปให้คำแนะนำ โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้ดินพังทลายไปทำให้บ่อน้ำตื้นเขิน หรือการยกร่องสวนเกษตรกรก็สามารถที่จะปลูกหญ้าแฝกรอบข้างร่องสวนและปลุกรอบข้างทางลำเลียงในไร่นา เพราะดินลักษณะดินทรายจะมีการชะล้างสูงมากเวลาน้ำมาหน้าฝน น้ำจะเป็นตัวพัดพาตะกอนดินที่เป็นการทำลายหน้าดินที่รุนแรงที่สุด ซึ่งหญ้าแฝกนี้มีรากลึกถึง 3 เมตร จะเหมือนกำแพงดินช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดินได้เป็นอย่างดี อีกวิธีการหนึ่งก็คือใช้ใบหญ้าแฝกมาใช้ในการปกคลุมดินเมื่อหญ้าแฝกโตได้ในระดับหนึ่ง และแปลงนี้คือปลูกได้ประมาณ 3 ปี ก็สามารถป้องกันได้แล้วจะเห็นว่าบ่ออยู่ได้โดยที่กักเก็บน้ำได้เท่าจำนวนที่ทางสถานีพัฒนาที่ดินเข้ามาส่งเสริม
นางสวน ชัยนนท์ เกษตรกร ต.หนองบัว อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีบ่อและปลูกแฝก เมื่อก่อนทำนาเหมือนกับชาวบ้านทั่วไป ปีหนึ่งทำนาหนเดียว หลังจากเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์มาส่งเสริมขุดบ่อให้ 1 บ่อ พร้อมสนับสนุนหญ้าแฝกให้ปลูกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน โดยตนได้ขยายพันธุ์ให้ชาวบ้านนำหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์ต่อ ด้วยการใส่ถุงพลาสติกเอาไว้ พอหญ้าแฝกออกรากก็จะให้ชาวบ้านมาเอาไปปลูกเป็นพันธุ์ต่อยอด ส่วนการทำไร่นาส่วนผสมได้ขุดคันคูรอบนา ซึ่งตอนแรกปวดหัวนอนไม่หลับเห็นดินชะล้างพังทลาย พอปลูกแฝกขึ้นมาดินก็หยุดชะล้างพังทลายได้ 100% จากนั้นหันมาปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ยืนต้น มะม่วง กล้วย ต้นหอม ผักชี พร้อมใส่ปุ๋ยอินทรีย์ สารเร่งซุปเปอร์ พด.ต่างๆ ที่สถานีพัฒนาที่ดินได้เข้ามาให้ความรู้ ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ถึงแม้จะไม่มาก ได้ทีละน้อยๆ แต่ก็ค่อยๆ สะสมมา ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นมาเรื่อยๆ ลดต้นทุนการผลิตและสร้างรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี.