ชุมชนเกษตรกรบ้านหนองบัวที่เคยทำการเกษตรโดยพึ่งพาสารเคมีเป็นหลัก จนกระทั่งรายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย เนื่องจากสารเคมีมีราคาสูงขึ้นสวนทางกับราคาสินค้าเกษตรที่ต่ำลง จนเกษตรกรส่วนใหญ่เริ่มละทิ้งอาชีพเกษตรกร จนปัจจุบันได้ความรู้จาก พด.สุรินทร์ ที่ช่วยเข้าไปแก้ปัญหา...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์ ได้เล็งเห็นถึงต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งก็คือผืนดินที่เสื่อมโทรมลงเพราะถูกใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยขาดการปรับปรุงบำรุงดิน จึงได้เข้ามาดำเนินการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นในชุมชน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรที่สนใจ โดยมีการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ ปัจจัยการผลิต และวัสดุอุปกรณ์ โดยใช้แรงงานของเกษตรกรในพื้นที่ร่วมกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และสารชีวภัณฑ์ จากสารเร่ง พด.ชนิดต่างๆ เพื่อให้การทำเกษตรอินทรีย์ไม่เป็นเรื่องที่ยุ่งยากอีกต่อไป โดยธนาคารอินทรีย์จะทำหน้าที่เป็นเป็นศูนย์รวมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกษตรกรนำมาฝาก ไม่ว่าจะเป็นใบไม้ กิ่งไม้ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาทำการฝากไว้กับธนาคาร และเมื่อมีวัตถุดิบเพียงพอ ก็ดำเนินการผลิตปุ๋ยหมัก โดยสมาชิกทุกคนเข้ามาช่วยกันทำ แล้วจึงมาเบิกปุ๋ยอินทรีย์ และสารอินทรีย์ต่างๆ ที่สามารถใช้งานได้ ไปใช้ที่แปลงเกษตรของตน ตามอัตราส่วนที่นำวัตถุดิบมาฝากไว้
...
ด้วยความสำเร็จของธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ บ้านหนองบัว ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ สถานีพัฒนาที่ดินจึงมีการต่อยอดไปสู่การนำวัสดุเหลือใช้ที่มีปริมาณมาก อย่างมูลช้าง จากโครงการคชอาณาจักร ซึ่งมีช้างอยู่ในการดูแลจำนวนมาก มาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อนำกลับมาหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง
ขณะที่ นายภาสกร อรสูญ ผู้จัดการโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ สังกัดองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการที่รับผิดชอบในเรื่องของโครงการช้างคืนถิ่น ตามกระแสพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 ณ ปัจจุบันนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่นำช้างเข้ามารวมกันอยู่จำนวนมาก ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเรื่องของมูลช้างที่ถ่ายประจำทุกวัน ประมาณ 3-4 ตันต่อวัน หรือประมาณ 1,300-1,400 ตันต่อปี ซึ่งที่ผ่านมาเรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร จึงได้ประสานกับสถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์ เพื่อเข้ามาดำเนินการในเรื่องของการทำปุ๋ยอินทรีย์มูลช้างเพื่อต่อยอดในเรื่องของการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวหอมมะลิด้วยปุ๋ยอินทรีย์มูลช้าง
โดยโครงการคชอาณาจักร จะดำเนินการรวบรวมมูลช้างมาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก โดยมีสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดสุรินทร์เป็นผู้ควบคุมสูตรการผลิตปุ๋ย เพื่อให้ได้ปุ๋ยมูลช้างที่มีคุณภาพ จำหน่ายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ราคาถูกให้กับเกษตรกรต่อไป
ด้วยความร่วมมือกันของเกษตรกรในชุมชน ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ภายใต้การสนับสนุนของกรมพัฒนาที่ดิน และโครงการคชอาณาจักร ทำให้ในวันนี้การทำเกษตรอินทรีย์ เป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น เกิดเป็นแรงจูงใจ ให้เกษตรกรหันมาผลิตสินค้าปลอดสารพิษเพิ่มมากขึ้น สามารถลดปริมาณการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณภาพสินค้าของตน อีกทั้งยังสามารถนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีอยู่จำนวนมากในชุมชน อย่าง มูลช้าง ให้กลับมาใช้ประโยชน์ หมุนเวียนภายในชุมชน ได้อย่างยั่งยืน.