แตะที่ไหนเจอหมด ทั้งเหนือ-อีสาน-ใต้
จ่อลงดาบเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัด ขอนแก่น ทุจริตเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ หลังคณะกรรมการตรวจสอบหลักฐานชี้มีมูลความผิด ส่วนที่ศูนย์ฯเชียงใหม่ บึงกาฬ หนองคายและสุราษฎร์ธานี พบข้อมูลการทุจริต ด้าน รมว.พม. เตรียมตั้งบุคคลภายนอกเข้าร่วมสอบสวนเพื่อความโปร่งใส ย้ำใครผิดต้องถูกลงโทษ
เริ่มบานปลายขยายวงกว้างไปหลายจังหวัด ภายหลังเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ลุยตรวจสอบการทุจริตเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ลามไปยัง จ.เชียงใหม่ จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย และ จ.สุราษฎร์ธานี ชาวบ้านถูกสวมชื่อใช้สิทธิและได้เงินไม่ครบ สงสัยเกิดการทุจริตปลอมแปลง เอกสารเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และผู้ป่วยโรคเอดส์ ในงบประมาณปี 2560
ความคืบหน้าเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 ก.พ. นายทองสุข ณ พล นักสืบสวนชำนาญการพิเศษ ป.ป.ท.เขต 4 เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการยังไม่สามารถลงพื้นที่พบชาวบ้าน 2,000 ราย ตามรายชื่อใบฎีการับเงินที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ในงบประมาณประจำปี 2560 เพราะเอกสารสำคัญยังไม่ครบ หลังยื่นเรื่องขอเอกสารตัวจริง จากทางศูนย์ฯ ของชาวบ้าน 2,000 ราย ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ดำเนินการมอบเอกสารให้แล้ว แต่ยังขาดในส่วนของต้นฉบับหรือเอกสารตัวจริงเกี่ยวกับใบฎีการับเงิน เมื่อได้เอกสารมาต้องตรวจว่า ต้นฉบับกับสำเนาตรงกันหรือไม่ หากตรงกันทั้ง 2,000 ฉบับ ป.ป.ท.เขต 4 จะต้องเข้าไปรับที่ศูนย์ฯ เพราะการรับเอกสารสำคัญต้องมีการเซ็นรับมอบ เพื่อความถูกต้องตามขั้นตอนการส่งเอกสารสำคัญทางราชการ
...
นายทองสุขเปิดเผยอีกว่า ขณะนี้การลงพื้นที่ในส่วนของคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงต้องระงับไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับเอกสารสำคัญส่วนที่เหลือ จากนั้นจะลงพื้นที่พบชาวบ้าน 2,000 ราย ทั้งนี้ ป.ป.ท.เขต 4 เร่งรัดการทำงานในทุกขั้นตอนให้รอบคอบและชัดเจน เพื่อให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนกรณี ผอ.ศูนย์ฯ นำเงินสงเคราะห์คนชราและคนพิการที่หมู่บ้านหนองน้ำเกลี้ยง หมู่ 3 ต.สำราญ อ.เมืองขอนแก่น ส่งชื่อไป 20 ราย รายละ 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 40,000 บาท มามอบให้ชาวบ้าน เพื่อนำไปสมทบการก่อสร้าง ศาลาที่พักศพของวัดในหมู่บ้าน คณะกรรมการ ป.ป.ท.จะต้องตรวจสอบรายชื่อชาวบ้าน 20 คน เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยตามระเบียบหรือไม่ รวมถึงว่าการใช้เงินผิดประเภทด้วย
ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 8 ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากชาวบ้านใน ต.พรุพี อ.บ้านนาสาร ที่มีรายชื่อเป็นผู้รับเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ของศูนย์คุ้มครองผู้ยากไร้ที่พึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวม 40 คน พบว่าส่วนใหญ่ได้รับเงินรายละ 2,000 บาท และลงลายมือชื่อในใบสำคัญรับเงิน 3,000 บาท มีส่วนต่างเงินหายไป 1,000 บาท ต่อมาไปตรวจสอบที่ ต.นาสาร อ.บ้านนาสาร สอบถามข้อเท็จจริงชาวบ้าน 60 คน พบว่าผู้ยากไร้ใน ต.นาสาร ได้รับเงินไม่เท่ากันแบ่งเป็น 3 จำพวกคือรายละ 2,000 1,500 และ 1,000 บาท เจ้าหน้าที่เบิกมาจริงเป็นเงินรายละ 3,000 บาท ในขั้นตอนชาวบ้านต้องยื่นเอกสารนำไปรวบรวมไว้ที่บ้านของ อสม.รายหนึ่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่จากศูนย์ฯ 3-4 คน เข้ามาดำเนินการ ลักษณะเช่นนี้คาดว่าน่าจะมีชาวบ้านเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทุจริตด้วย อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล
นายกฤษณ์ กระแสเวส ผอ.ป.ป.ท.เขต 5 อ.เมืองเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 5 ลงพื้นที่สุ่มตรวจ 4 อำเภอใน จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วยสันกำแพง แม่ริม สันป่าตอง และฝาง สอบถามชาวบ้านที่มีรายชื่อได้รับเงินช่วยเหลือ 67 ราย พบว่าไม่ได้รับเงิน 54 ราย ได้รับบางส่วน 4 ราย ได้รับเงินเต็มจำนวน 9 ราย ขณะนี้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนชี้มูลความผิดแล้ว พร้อมสั่งให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ขยายผลตรวจสอบการเบิกจ่ายงบด้านอื่นด้วยในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ
ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กล่าวถึงความคืบหน้าของคณะกรรมการสอบสวนวินัยในพื้นที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น และ จ.เชียงใหม่ว่า รับรายงานด้วยวาจาอย่างไม่เป็นทางการจากคณะกรรมการสอบวินัยลงพื้นที่ศูนย์ฯขอนแก่น ตรวจสอบข้อมูลเจ้าหน้าที่เข้าข่ายทุจริต มีความผิดวินัยร้ายแรง คณะกรรมการฯจะส่งเรื่องแจ้งอย่างเป็นทางการภายใน 1-2 วันนี้ เพื่อดำเนินการตามระเบียบ โดยผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิ์หาข้อมูลหลักฐานมาหักล้างภายใน 15 วัน ก่อนที่จะพิจารณาโทษอย่างเป็นทางการ ส่วนที่ศูนย์ฯเชียงใหม่ คณะกรรมการฯเร่งสอบสวนคาดว่าจะทราบผลในเร็วนี้ ขณะที่ศูนย์ฯบึงกาฬ หนองคาย และสุราษฎร์ธานี พบข้อมูลการทุจริต อยู่ระหว่างสอบสวนข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ พส. ยังไม่มีการสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ ต้องให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย และการชี้มูลต้องมีข้อมูลหลักฐานชัดเจน หากพบความผิดต้องลงโทษอย่างแน่นอน
นางนภากล่าวต่ออีกว่า คณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบในหลายศูนย์ ขณะนี้ทราบผลที่ศูนย์ฯ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี และสมุทรสงคราม ไม่พบปัญหา ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายได้รับเงินช่วยเหลือครบ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม. สั่งเน้นย้ำถึงการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ให้มีมาตรการรัดกุมยิ่งขึ้น พร้อมกำชับให้คณะกรรมการฯลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ทราบผลโดยเร็ว
ด้าน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ แต่ข้อมูลไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นไปตามขั้นตอนระเบียบของข้าราชการ ต้องมีความรอบคอบในการดำเนินงาน ต่างจาก ป.ป.ท.ที่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ทันที ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่าการทุจริตเชื่อมโยงข้าราชการระดับสูงในกระทรวงนั้น เบื้องต้นทราบเรื่องแล้ว แต่ยังไม่สามารถให้ข้อมูลว่าจริงหรือไม่ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 21 ก.พ. หารือในที่ประชุมผู้บริหาร พม. จะตั้งคณะกรรมการสอบสวน มีบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมเพื่อความโปร่งใส สอบสวนควบคู่ไปกับการหาข้อเท็จจริงในระดับพื้นที่ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เมื่อถามถึงกรณีมีนักวิชาการถามหาความรับผิดชอบจากกระทรวง ในเรื่องที่เกิดขึ้น พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า ยืนยันรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่จะให้ลาออกทั้งกระทรวงคงไม่ใช่ ต้องสอบสวน ใครผิดก็ว่าไปตามความผิด
ที่ศูนย์บริการประชาชน บริเวณสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ขอให้ตรวจสอบการทุจริตโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน ผู้ป่วยโรคเอดส์ นายวัชระกล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีงบประมาณในปี 2559 จำนวน 600 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 600 ล้านบาท กระจายไปยังพื้นที่ ต่างๆ เริ่มตั้งแต่ 2.5-5 ล้านบาท บางแห่งได้งบประมาณสูงถึง 30 ล้านบาท ตรวจสอบพบว่าโครงการดังกล่าวเริ่มขึ้นในสมัยนายพุฒิพัฒน์ เลิศ-เชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวง พม. อดีตเป็นอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และนายณรงค์ คงคำ รองปลัดกระทรวง พม. อดีตเป็นรองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือให้ตรวจสอบโครงการดังกล่าว แต่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ในฐานะอดีต รมว. พม. นิ่งเฉยและให้เดินหน้าโครงการต่อ ทั้งยังผลักดันให้นายพุฒิพัฒน์ขึ้นเป็นปลัดกระทรวง พม. นายณรงค์ขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวง พม. ขอเรียกร้องให้นายกฯ สอบสวน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.อาญา มาตรา 157 ย้ายนายพุฒิพัฒน์ และนายณรงค์ กับพวกรวม 5 คน ออกจากตำแหน่ง เพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพ
...