เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ลดการระบายน้ำลงเขื่อนละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร หวั่นแล้งยาวนาน ทำให้น้ำไม่พอใช้...

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ลดการระบายน้ำลงเขื่อนละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปัจจุบันเขื่อนภูมิพลมีน้ำที่ใช้งานได้จริง จำนวน 2,327 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 24 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง และลดการระบายจากวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำที่ใช้งานได้ 1,967 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 29.54 เปอร์เซ็นต์ ลดการระบายจากวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตรเช่นกัน

นายพิสุทธิ์ โชคคติวัฒน์ ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลว่า ขณะนี้น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้อยมาก ปัจจุบันเขื่อนภูมิพลระบายน้ำตามแผนจากมติที่ประชุมของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งเป็นการระบายน้ำตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งต้องการกักเก็บน้ำในเขื่อน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งยาวนาน ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงปรับแผนการระบายน้ำตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์จริง ในปัจจุบัน แผนระบายน้ำจึงเป็นไปเฉพาะเพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น โดยระบายน้ำวันละประมาณ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถ้าเขื่อนภูมิพลยังคงระบายน้ำจำนวนเท่านี้ จะปล่อยน้ำอีกได้ 100 วันเท่านั้น

...

ทางกรมชลประทานจึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรปลูกข้าวน้อยลง เพราะหากฝนมาล่าช้ากว่าที่ได้คาดการณ์กันไว้ ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์น่าเป็นห่วงมากขึ้น เพราะน้ำต้นทุนในปีนี้มีค่อนข้างน้อย แต่อย่างไรก็ตามเขื่อนภูมิพลยังคงระบายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคสำหรับผู้ใช้น้ำ และขอรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า

สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ หากมีน้ำน้อยเกินกว่าที่จะไหลผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ก็จะทำให้ผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ได้ ทำให้ต้องผลิตไฟจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ ทดแทน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ.