เจ้าหน้าที่เร่งคลี่ปม 5 ศพในบ่อหมักปลาร้า ที่เพชรบูรณ์ พบเป็นบ่อที่ไม่ได้ใช้งานมาเป็นปีแล้ว ตรวจพบ "ก๊าซไข่เน่า" รอผลเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ เจ้าของกิจการเล่า นาทีช็อก
จากเหตุสลด คนงานพร้อมลูกเขยโรงหมักปลาร้า เสียชีวิตที่ก้นบ่อหมัก รวม 5 ศพ เหตุเกิดช่วงเย็นวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ภายในโรงหมัก พื้นที่ ต.หนองไขว่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 67 เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน จ.เพชรบูรณ์ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หล่มสัก, กรมควบคุมโรค สคร.2 พิษณุโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจสอบที่บ่อหมักปลาร้า ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ พบว่า สภาพอาคารเกิดเหตุ เป็นอาคารปูนชั้นเดียว มุงด้วยหลังคาเมทัลชีทขนาดใหญ่ ภายในอาคารด้านข้างทั้งสองฝั่ง เป็นบ่อปูนขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 2 เมตร ลึก 2.20 เมตร ฝั่งละ 8 บ่อ ตรงกลางมีโอ่งสำหรับหมักปลาร้า และปี๊บบรรจุปลาร้า รวมถึงถัง และอุปกรณ์ในการผลิตปลาร้า ส่วนบ่อมรณะนั้นเป็นบ่อสุดท้ายในสุดฝั่งด้านซ้ายมือ
จากนั้น เจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค สคร.2 พิษณุโลก ได้นำเครื่องตรวจวัดค่าก๊าซในที่อับอากาศ เข้าตรวจสอบอากาศบริเวณปากบ่อหมักปลาร้าที่เกิดเหตุ และบ่อใกล้เคียงอีก 2 บ่อ เพื่อหาผลวิเคราะห์เปรียบเทียบ โดยเบื้องต้นพบก๊าซแอมโมเนีย แต่จะต้องรอการประชุมกับสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ และกรมควบคุมโรค สคร. 2 พิษณุโลก ถึงจะแจ้งผลให้ทราบได้ว่ามีก๊าซอะไรบ้าง และเกินกว่าค่ากฎหมายกำหนดหรือไม่ เบื้องต้นพบ "ก๊าซแอมโมเนีย" และ "ก๊าซไข่เน่า" ในบ่อเกิดเหตุ ส่วนผลออกมาเช่นไร จะแจ้งหลังประชุมเสร็จเย็นวันนี้
...
พ.ต.อ.รัง ดาวดึงส์ ผกก. สภ.หล่มสัก เปิดเผยว่า ผลตรวจผ่าพิสูจน์ศพเบื้องต้น พบศพมีลักษณะร่างกายสีเขียว ซึ่งมีผลมาจากการได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เกิดจากสาเหตุใด และในวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะได้นำเลือดของผู้เสียชีวิตทั้งหมดส่งตรวจที่โรงพยาบาลตำรวจ กรุงเทพฯ เพราะมีศักยภาพสูงสุดในการตรวจพิสูจน์ ซึ่งจะทำให้ได้ผลการตรวจเป็นข้อยุติ ส่วนสถานที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นจะต้องปิดกั้น เก็บรักษาสภาพไว้ก่อน เพื่อรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบหลักฐานในที่เกิดเหตุเพิ่มเติม และสรุปสาเหตุการเสียชีวิตก่อน ถึงจะเปิดพื้นที่คืนให้แก่เจ้าของกิจการได้
ขณะที่ เจ้าหน้าที่จากอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าตรวจสอบการขออนุญาตประกอบการ พบว่า การประกอบกิจการแห่งนี้ไม่มีการใช้เครื่องจักร และมีคนงานเพียงจำนวน 6 ราย ลักษณะดังกล่าว จึงไม่เข้าข่ายโรงงานตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 แต่อย่างใด ซึ่งการประกอบกิจการโรงงาน ตามกฎหมายโรงงานหมายถึง โรงงานที่มีการใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หรือมีการใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป ส่วนกิจการประเภทนี้ จะต้องขออนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการอันเป็นที่น่ารังเกียจ ซึ่งมีอายุปีต่อปี โดยโรงผลิตปลาร้าแห่งนี้ ขออนุญาตและต่ออายุถูกต้อง ตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่หมดอายุ
ด้าน นายราชัย ส่งจิตต์สวัสดิ์ เจ้าของกิจการ เปิดเผยว่า ประกอบกิจการนี้มากว่า 40 ปีแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่มีพนักงาน 1-2 คน จึงพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ จนปัจจุบัน มีพนักงาน 6 คน บริหารงานกันแบบธุรกิจครอบครัว หลังจากลูกสาวแต่งงานกับลูกเขย และได้เข้ามาช่วยกิจการครอบครัว ตนก็ยกกิจการให้ลูกเขยเข้าบริหารงาน นานกว่า 5 ปีแล้ว โดยจะแวะเวียนมาเยี่ยมเยียน ดูแลอยู่ห่างๆ เดือนละครั้งหรือสองครั้ง ส่วนขั้นตอนการหมักปลาร้านั้น จะใช้พนักงานเป็นระยะๆ ไม่ได้จ้างเป็นประจำตลอด ขึ้นอยู่กับฤดูของปลา ว่ามีปลาหรือไม่ ถ้าช่วงฤดูกาล ก็จะนำปลาเข้ามาหมักเดือนละ1-2 ครั้ง และจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน เมื่อมีงานก็จะเรียกพนักงานเข้ามาทำงาน หลังนำปลาร้าหมักไว้ประมาณ 3 เดือน ก็นำออกจำหน่ายในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งถ้าขายไม่หมด เคยหมักไว้ถึง 1 ปี
นายราชัย เผยต่อว่า วันเกิดเหตุ ประมาณ 13.00 น. ตนบอกลูกเขยว่า จะมีปลาเข้ามาเพิ่มในวันถัดไป ให้ลูกเขยไปบอกคนงาน ล้างบ่อที่เกิดเหตุ เพื่อเตรียมนำปลามาลงหมัก คาดว่าคนงานทั้งหมดรวมถึงลูกเขย น่าจะลงไปในบ่อช่วงเวลา 14.00-15.00 น. ซึ่งบ่อดังกล่าวเป็นบ่อสุดท้ายที่ไม่ได้ใช้นานเป็นปีแล้ว จึงได้นำถังพลาสติกเปล่าสีน้ำเงินมาเก็บไว้ในบ่อ ส่วนตนเดินทางไปทำธุระที่จังหวัดพิษณุโลก
กระทั่งช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. คนงานอีกคนพร้อมคนขับรถ กลับจากเดินทางนำปลาร้าไปส่งที่จังหวัดเลย มาถึงโรงงานไม่พบใคร จึงตรวจสอบพบว่าทั้งหมดได้เสียชีวิตในบ่อ ตนทราบข่าวตกใจสุดขีด รีบขับรถกลับจากพิษณุโลกทันที