งานวัดใหญ่ หรืองานสมโภชพระพุทธชินราช ประจำปี 2567 ประชาชนชาวพิษณุโลกและนักท่องเที่ยวมีโอกาสได้ขึ้นพระปรางค์ ด้านหลังวิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราช เปิดให้ขึ้นได้ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงจัดงานวัดใหญ่ 7 วัน ได้กราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุบรรจุในสถูปเจดีย์สีทอง
งานสมโภชพระพุทธชินราชประจำปี 2567 หรือ งานวัดใหญ่ งานประเพณีเก่าแก่ของเมืองพิษณุโลก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร หรือ วัดใหญ่ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ได้จัดเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 3 ปีนี้ จัดเป็นปีที่ 90 กำหนดจัดงานระหว่าง 15-21 กุมภาพันธ์ 2567 ประชาชนทั้งชาวพิษณุโลกและต่างจังหวัดได้เดินทางมาเที่ยวงานจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณหน้าวิหารและภายในวิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราชเนืองแน่นด้วยผู้คน ที่เข้ามากราบนมัสการพระพุทธชินราช พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพิษณุโลก
นอกจากนี้ ถือเป็นประเพณีที่ทำสืบต่อกันมายาวนาน ในทุกปีของงานสมโภชพระพุทธชินราช วัดใหญ่ เปิดโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ขึ้นไปบนพระปรางค์ ที่อยู่ด้านหลังวิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราชในตลอดช่วงเวลาจัดงาน 7 วัน จากที่ปกติจะปิดประตูล็อก และไม่ให้ขึ้นไปบนพระปรางค์
...
ในวันนี้ ทั้งชาวพิษณุโลกและนักท่องเที่ยว ได้มีโอกาสปีนบันได 25 ขั้น ขึ้นไปบนพระปรางค์ ที่ภายในมีสถูปเจดีย์สีทอง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยมีนักเรียนโรงเรียนพุทธชินราชพิทยา คอยอำนวยความสะดวกและแนะนำ การขึ้นลงให้ปลอดภัย แม้ว่าใจกลางพระปรางค์จะไม่สูงมากนัก แต่บันไดทางขึ้นค่อนข้างชัน และนักเรียนจะคอยไปขึ้นไปเก็บดอกไม้ธูปเทียนที่นักท่องเที่ยวนำขึ้นไปด้านบน รวมถึงคอยขอความร่วมมือห้ามปิดทองที่สถูปเจดีย์สีทอง
พระปรางค์วัดใหญ่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.พิษณุโลก ในช่วงงานวัดใหญ่ของทุกปี ถือเป็นโอกาสอันดี สำหรับท่านที่อาจจะไม่เคยขึ้นไปกราบนมัสการองค์สถูปเจดีย์ ที่เชื่อกันว่าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นศูนย์รวมยึดเหนี่ยวจิตใจชาวพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะที่สำคัญของพระมหากษัตริย์คู่พิษณุโลกสองแคว เนิ่นนานมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในพระมหาธรรมราชาที่ 1 ลิไท เดิมนั้นพระปรางค์วัดใหญ่น่าจะเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม หรือพุ่มข้าวบิณฑ์ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ สมัยอยุธยาตอนต้น พิษณุโลกได้เป็นเมืองหลวงถึง 25 ปี จึงทำนุบำรุงพุทธศาสนานำเอาศิลปะแบบอยุธยาเข้ามาสร้างให้ มีเอกลักษณ์เพื่อเป็นขอบเขตอาณาจักร จึงได้บูรณะปรับปรุงให้เป็นพระปรางค์ตามยุคสมัย เป็นพระปรางค์ทรงคล้ายฝักข้าวโพด
พระปรางค์ มีการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงโดยการบูรณะตามยุคสมัยกาลเวลา เช่น การนำเอากระเบื้องโมเสกที่ฉาบด้วยทองไปปิดทำให้เกิดความสวยงาม เรียก “นพเก้า” ปัจจุบันมีการบูรณะใหม่เปลี่ยนกระเบื้องโมเสก "นพเก้า" ลอกปูนที่หมดอายุนำเอาปูนปั้นรูปพญาครุฑยุดนาคลงทั้ง 12 ตน และนำครุฑที่เรียกครุฑพาห์ทิศละ 1 ตน ยักษ์พระเวสสุวรรณ ทิศละ 6 ตน สี่ทิศด้วยกัน ดังที่เห็นในปัจจุบัน
...
ครั้งในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 ได้กำหนดให้มีงานประจำปี กำหนดทุกวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 3 จึงเกิดเป็นงานสมโภชประจำปี ปีละครั้ง ที่สำคัญได้ให้โอกาสประชาชนที่ศรัทธาได้เข้าใกล้องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า กราบพระบรมสารีริกธาตุ โดยทางวัดเปิดให้ขึ้นพระปรางค์ ในช่วงงานสมโภชพระพุทธชินราชเป็นประจำทุกปี ซึ่งต่างจากเจดีย์หรือพระธาตุจังหวัดอื่นๆ ที่มักจะไม่ให้คนทั่วไปได้เข้ากราบและได้ชม เป็นที่อันสงวนถึงความศักดิ์สิทธิ์ต้องห้าม (โดยเฉพาะผู้หญิง) จึงถือว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในงานวัดใหญ่ทุกๆ ปี หากมีโอกาสควรขึ้นไปกราบนมัสการ ชมความสวยงามของศิลปะไทย
สิ่งที่น่าประทับใจ ใจกลางพระปรางค์ อาทิ สถูปเจดีย์สีทองที่เป็นทรงลังกา หรือคล้ายระฆังคว่ำ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ศูนย์รวมจิตใจพุทธศาสนิกชนบนฐานบัลลังก์สามชั้น ลงพื้นสีชาดแดงและปิดทอง มีลายไทยลายประจำยามประดับกระจก 2 ชั้นบน, กระเบื้องทอง, คาดลายดอกไม้ฐานบน, คาดลายประจำยามก้ามปูฐานกลาง, ลายกระจังตาอ้อยคว่ำหงายฐานล่าง, ด้านหลังประดิษฐานพระปรางมารวิชัยในคูหา, ตัวดาวเพดานบูรณะคราวเดียวกันลงชาดปิดทอง ล่องลงสีเขียวที่รอบดาวเดือน สีเขียวเข้ามาสร้างความสวยงามตามสมัยนิยม หากได้นมัสการจะรู้สึกความอิ่มใจ อิ่มตา ในความสวยงามของพุทธศิลป์ บานประตูใหม่จากที่เริ่มผุพัง แกะลายไทยกนกเปลวสีทองล่องลงสีชาดแดง (บานเดิมอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์ให้ชม) ขั้นบันได 25 ขั้น เสริมราวสเตนเลส เพื่อความปลอดภัย (เดิมหากมีงานประจำปีจะเป็นลำไม้ไผ่ให้ชาวเมืองได้จับขึ้นไป) มีพญานาค 7 เศียรเป็นราวบันไดให้คนสมัยก่อนได้ค่อยๆ ลูบราวหรือเกล็ดพญานาคขึ้นไปอย่างมีสติแฝงกุศโลบาย หน้าพญานาคมีเทวดา 2 องค์คอยดูแลเรียกเทพพนม