นักธรณีวิทยาลงพื้นที่ตรวจสอบหลุมยุบในบ่อน้ำสาธารณะ อ.เวียงชัย หลังเกิดเพิ่มเป็น 2 หลุม ชี้ เป็นรอยแยกหินปูนใต้ดิน มีโอกาสเกิดขึ้นอีก

วันที่ 7 ธ.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านทุ่งยั้ง ม.2 ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ซึ่งได้เกิดหลุมยุบขึ้นในบ่อน้ำสาธารณะ จนเกิดความแตกตื่นขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่ที่ทราบข่าว โดยล่าสุดมีหลุมยุบเกิดขึ้นเพิ่มรวมเป็น 2 หลุม และยังมีชาวบ้านทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่มาดูที่หลุมยุบดังกล่าว ทำให้บริเวณบ่อน้ำน้ำดังกล่าวกลายเป็นที่ชุมนุมพบปะพูดคุยกันของชาวบ้านไปโดยปริยาย และทางเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรธรณีก็ยังเดินหน้าสำรวจพื้นที่เพื่อตรวจสภาพพื้นที่และประเมินความเสี่ยงภัยต่อไป

นายภควัต ศรีวังพล และ นางวันวิษา น้อมสูงเนิน นักธรณีวิทยาชำนาญการ กองเทคโนโลยีธรณี กรมทรัพยากรธรณี กระทรวง ทส. เปิดเผยว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีสาขาลำปางได้มาลงพื้นที่สำรวจในเบื้องต้นเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา ในวันนี้ทางทีมของตนซึ่งเป็นหน่วยงานจากส่วนกลางจึงได้นำเครื่องมือมาทำการตรวจสอบ เพราะเป็นจุดที่เป็นที่สนใจของชาวบ้าน

...

โดยใช้เครื่องมือวัดค่าสภาพต้านทานไฟฟ้า ซึ่งเป็นเครื่องมือทางธรณีฟิสิกส์ ที่นำมาตรวจคุณสมบัติทางเคมีของดินหินแร่ต่างๆ เพื่อให้ทราบสภาพชั้นดินชั้นหินในระดับความลึก 50-60 ม. เพื่อดูลักษณะธรณีใต้ดิน สำรวจโครงสร้างแนวการเกิดรอยแตกรอยเลื่อนใต้ดิน ที่อาจจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดหลุมยุบดังกล่าว โดยเราจะพยายามสำรวจให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่รอบจุดที่เกิดหลุมยุบ ก็จะได้ข้อมูลลึกลงไปใต้ดินตามแนวสำรวจ แล้วเราก็จะใช้ข้อมูลที่ได้เป็นตัวแทนของลักษณะธรณีวิทยาของพื้นที่นี้ มันก็จะบอกเราได้ว่าพื้นที่แถบนี้ที่เราวัดลงไปมันมีโพรงใต้ดินหรือเปล่า และเป็นดินเป็นหินอะไร ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่แถบนี้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสูง เพราะล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูน มีรอยแตกรอยแยกหลายแนวที่ทำให้เกิดหลุมยุบได้มากขึ้น

"ในด้านการแก้ไขหลุมยุบตามหลักวิชาการ เราก็ต้องใช้หินก้อนใหญ่ๆ ใส่ลงไปในหลุมก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งที่อยู่ด้านบนไหลทับลงไป แล้วจึงใส่หินกรวด หรือกินก้อนเล็กๆ ลงไป เพื่อที่จะไปอุดรอยแตกเล็กๆ แต่การแก้ไขก็ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และความคุ้มค่าของพื้นที่ที่เกิดหลุมยุบ ถ้าเกิดในพื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงอันตรายกับประชาชน อย่างเช่นในป่าเขา เราก็ไม่ต้องไปแก้ไขอะไร ปล่อยให้ เป็นไปตามธรรมชาติ" นายภควัต กล่าว

เจ้าหน้าที่ธรณีวิทยายังได้พาผู้สื่อข่าวไปดูที่บริเวณหน้าผาใกล้ๆ เพื่อดูลักษณะการเกิดรอยแยกของหน้าผา ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับการเกิดหลุมยุบใต้ดิน โดยนางวันวิษา น้อมสูงเนิน นักธรณีวิทยาชำนาญการ เผยว่า บริเวณใต้ดินแถบนี้เป็นหินปูน มีรอยแยกใต้ดินหลายจุด ที่มันไม่มีการยุบตัวเพราะมีดินมีหินอยู่ด้านบน แต่เมื่อนานวันเข้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงระดับของน้ำใต้ดิน มันก็จะไปทำให้ตะกอนใต้ดินให้ร่วงลงไป ดินข้างบนมันก็เลยร่วงลงไปด้วย จึงเกิดเป็นหลุมยุบขึ้นมา

จากข้อมูลการสำรวจหลุมยุบของกรมทรัพยากรธรณีที่สระน้ำสาธารณะชุมชนผาหินแตก บ้านทุ่งยั้ง ม.2 ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ที่เกิดขึ้นหลุมแรกในวันที่ 27 พ.ย. 65 และต่อมาพบการยุบตัวเพิ่มในวันที่ 5 ธ.ค. 65 พบว่าหลุมยุบเป็นแบบดินยุบลงสู่ช่องโพรงด้านล่าง (Dropout sinkhole) รวมจำนวน 2 หลุม ปากหลุมเป็นรูปวงกลมมีน้ำขัง ตำแหน่งหลุมยุบนี้อยู่บนแผนที่พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดหลุมยุบในหินปูน ปี 2548 (ปรับปรุงแก้ไขปี 2565)

รอยแตกหินและจุดตัดระหว่างรอยแตกหินที่เป็นสาเหตุให้เกิดหลุมยุบ พบจุดตัดกันระหว่างแนวเส้นรอยแตกทิศทางตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ (NW-SE) และทิศเกือบเหนือใต้ (NNW-SEE) ปรากฏอยู่บนตำแหน่งสระน้ำ ประกอบกับความหนาชั้นดินบางลงจากการขุดสระน้ำ จึงเป็นสาเหตุนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์หลุมยุบและน้ำหายจากสระจนหมด โดยคาดว่าน้ำจะไหลจากสระน้ำผ่านช่องโพรงใต้ดินที่เกิดจากแนวรอยแตกดังกล่าวไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ (SE) ซึ่งเป็นที่ต่ำกว่า เข้าสู่ทางน้ำสาขาขนาดเล็กห้วยป่าอ้อน้อย ในช่วงที่ไหลไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้จนถึงทิศใต้เลียบเชิงเขายอด 389

...

หลุบยุบในอดีตที่พบเพิ่มเติมจากการแปลภาพดาวเทียม Google map ม.ค. 65 พบบนพื้นที่นา สภาพยังไม่ถูกถมกลบ ลักษณะปากหลุมเป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8.72 เมตร ไม่มีน้ำขัง ขอบหลุมยุบมีร่องรอยถล่มเล็กน้อย อยู่ในบริเวณที่มีแนวรอยแตกเส้นสั้นๆ ทิศทางเหนือ-ใต้ (N-S จนถึง NEE-SWW) และทิศทางตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ (NW-SE) พาดผ่านขอบภูเขาหินปูนสู่ที่ราบ

หลุมยุบในอดีตนี้อยู่ห่างจากหลุมยุบที่เกิดขึ้นใหม่ในสระน้ำประมาณ 500 เมตร หลุมยุบทั้ง 2 ตำแหน่งมีโอกาสเชื่อมต่อถึงกันได้น้อยมาก เนื่องจากมีเขาหินปูนคั่นกลาง หลุมยุบที่เกิดใหม่อยู่ใกล้คลองขุดที่ไหลไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนหลุมยุบในอดีตอยู่ใกล้คลองขุดที่ไหลไปยังทิศเหนือ นอกจากนี้หลุมยุบทั้งสองยังเกิดขึ้นบนรอยแตกคนละเส้น.