หากนับตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรี ประกาศ “อีก120 วันเปิดประเทศ” โดย ให้นับจากวันที่พูด คือวันที่ 1 กรกฎาคม 2564
เท่ากับว่า คร่าวๆ กำหนด “120 วันเปิดประเทศ” จะไปสิ้นสุดในวันสุดท้ายของเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งสอดคล้องกับการเลื่อนเปิดเมืองท่องเที่ยว 5 จังหวัดที่ ศบค.เพิ่งเคาะโต๊ะไปเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ให้หัวหิน เชียงใหม่ ชลบุรี เพชรบุรี รวมถึง กทม. จากเดิมกำหนดเริ่มสตาร์ตเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว “แบบมีเงื่อนไข” ในวันที่ 1 ตุลาคม ให้เลื่อนไปเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564
ขณะที่โครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ที่เป็นโครงการนำร่อง เปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดส อยู่ภูเก็ตได้โดยไม่ต้องกักตัว เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวกรุ๊ปแรกในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564
ก่อนจะถึงวันนั้น วันที่รัฐบาลจะสรุปว่า ไทยจะเปิดประเทศหรือได้หรือไม่ มาดูกันก่อนว่า 3 เดือน หรือ 90 วันที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นบ้างที่ภูเก็ต
1 กรกฎาคม นายกรัฐมนตรีจั่วหัว “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เดินทางมาเป็นประธานเปิด พร้อมออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 51 คน ที่เดินทางมาสายการบินปฐมฤกษ์
10 กรกฎาคม พบผู้ติดเชื้อโควิดที่เป็นนักท่องเที่ยวโครงการนี้ คนแรก เพศชาย เดินทางมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
12 กรกฎาคม ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สานสัมพันธ์รักหนุ่มฮ่องกงกับสาวไทย จดทะเบียนสมรสกันหวานชื่น
21 กรกฎาคม สาวไทยแหกกฎ ออกจากพื้นที่ก่อนครบ 14 คืน ถูกแจ้งความเอาผิด
...
26 กรกฎาคม น้องเทนนิส ฮีโร่เจ้าของเหรียญทองเทควันโดโอลิมปิกกลับไทย เข้าร่วมภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
5 สิงหาคม หญิงสาวชาวสวิตเซอร์แลนด์ ที่มาท่องเที่ยวในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ถูกฆาตกรรมโดยชายไทย ที่บริเวณน้ำตกโตนอ่าวยน ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต
10 สิงหาคม สายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิก ไฟลต์แรก นำนักท่องเที่ยว 150 คน เดินทางมาเกาะภูเก็ต
26 สิงหาคม บิ๊กโจ๊ก ผช.ผบ.ตร.ติดตาม“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” หารือภาคเอกชน ระบุภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแล้วกว่า 24,000 คน
5 กันยายน ผวจ.ยอมรับภูเก็ตสถานการณ์โควิดเข้าสู่วิกฤติอีกครั้ง ติดเชื้อเฉลี่ยวันละกว่า 200 คน
10 กันยายน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมติดตามความคืบหน้าและแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีผู้เดินทางเข้ามาแล้ว 29,921 คน ติดเชื้อโควิด 89 คน ถือเป็นอัตราน้อยมาก
13 กันยายน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวเตรียมจัดงาน“Gems & Jewelry Fest in Phuket” บูรณาการท่องเที่ยวชายฝั่งอันดามัน
21 กันยายน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตประชุมได้ข้อสรุป เปิดเกาะภูเก็ต “แบบมีเงื่อนไข” ดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ เข้าได้ทุกคน ทุกช่องทาง
สรุปข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (สัปดาห์ที่2ของเดือนกันยายน) นักท่องเที่ยวเข้าร่วมโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-14 ก.ย. 2564 มีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสม 32,005 คน ในจำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด 91 คน ยอดการจองห้องพัก (จำนวนคืนผู้เข้าพัก SHA+) จำนวน 524,221 คืน
ในส่วนการระบาดของโควิด-19 มีข้อมูลการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่เป้าหมายการกระจายวัคซีนจำนวน 466,587 ราย โดยเป็นประชากรที่มีทะเบียนราษฎรในจังหวัดภูเก็ตอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 302,361 ราย ประชากรที่ทำงานในจังหวัด แต่ไม่มีทะเบียนราษฎร์ จำนวน 107,526 ราย คนต่างด้าวที่ทำงานและมีองค์กรรับรอง พร้อมทั้งมี Workpermit จำนวน 56,700 ราย
...
"ข้อมูล ณ วันที่ 14 กันยายน 2564 ฉีดวัคซีน 1 เข็มแล้วจำนวน 431,090 ราย คิดเป็น 92% ฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้วจำนวน 379,598 ราย คิดเป็น 81 % ส่วนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1-16 ก.ย.64 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,741 คน เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าร่วมโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จำนวน 12 คน”
ทั้งนี้ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผวจ.ภูเก็ต เคยกล่าวยอมรับในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 52/2564 ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ใน จ.ภูเก็ตขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤติ เป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก สำหรับการแพร่ระบาดในพื้นที่ เชื้อได้แพร่กระจายไป “ทุกหย่อมหญ้า” จากการแพร่ระบาดของเชื้อเดลตา เตียงผู้ป่วยที่มีอยู่ใกล้เต็มทั้งหมดแล้ว ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของ จ.ภูเก็ตในขณะนี้เหมือนกับการแพร่ระบาดในหลายๆพื้นที่ ดังนั้น ภูเก็ตจะต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน เปลี่ยนมาตรการการควบคุมใหม่ ในการที่จะลดเชื้อลดลงโดยเร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาทุกฝ่ายได้พยายามอย่างเต็มที่ และจะทำอย่างเต็มที่ต่อไป เพื่อสกัดเชื้อในพื้นที่ให้ได้รวดเร็วที่สุด
...
ในส่วนของภาคธุรกิจ มีเสียงสะท้อนจาก นายพชร เหลือละมัย นายกสมาคมที่พักบูติกภูเก็ต กล่าวถึงสถานการณ์ของผู้ประกอบการที่พักบูติกในพื้นที่ ว่า ที่ผ่านมาได้นำเสนอปัญหาที่ทำให้ขาดโอกาสรับนักท่องเที่ยวในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เนื่องจากขณะนี้ ม.44 ที่ยกเว้นให้กับโรงแรมบูติก สามารถดำเนินธุรกิจในลักษณะโรงแรมได้ หมดอายุไปเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการฟื้นฟูต่างๆ จึงอยากให้ขยายระยะเวลาเพื่อให้โรงแรมเหล่านี้ได้ปรับตัวให้เข้ากับหลักเกณฑ์ออกไปอีก 3 ปี ไม่ต่างจากผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องการให้มีการปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ขณะนี้เป็นปัญหาอย่างมาก ทำให้ร้านอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมากในแหล่งท่องเที่ยว ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ รวมไปถึงในส่วนของสถานบันเทิงต่างๆด้วย
"ที่ผ่านมาสมาคมและสมาชิกพยายามยื่นเรื่อง เพื่อเสนอปัญหาที่พวกเราประสบอยู่ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึง ส.ส.ภูเก็ต เพื่อนำปัญหาส่งตรงถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ลงมาแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ก่อนที่พวกเราจะล้มละลาย"
...
นายพชร กล่าวด้วยว่า สมาชิกของสมาคมฯ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่พักขนาดเล็กหรือกลุ่มเอสเอ็มอี ถือเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อน และร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดีสร้างความประทับใจในการเปิดเมืองนำร่องการท่องเที่ยวของประเทศไทย หรือภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในขณะนี้ แต่กลับประสบปัญหา ได้รับความเดือดร้อนจากการที่คำสั่งดังกล่าวได้สิ้นสุดลง และไม่สามารถเข้าร่วมโครงการตามเกณฑ์เงื่อนไขระบบมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของจังหวัดภูเก็ต หรือ ระบบ SHA Plus ได้ เพราะขาดคุณสมบัติในเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการ แม้ว่าจะมีการออกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับ3) พ.ศ. 2564 เพื่อขยายระยะเวลากฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2559 ออกไปอีก 3 ปีก็ตาม แต่สมาชิกทั้งหมดก็ยังติดปัญหาข้อจำกัดที่ไม่สามารถปรับปรุงอาคารเพื่อเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง ตามเกณฑ์ของ พ.ร.บ.โรงแรม และกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการโรงแรมระดับ 2 ดาวที่มีห้องพักไม่เกิน 50 ห้องในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ถือว่าหนักสุด เศรษฐกิจในพื้นที่พังยับ เมื่อการเดินทางถูกระงับ ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศหรือต่างประเทศ ทำให้การค้าการขายในประเทศถูกชะลอลงเช่นเดียวกัน
"ขณะที่โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้าร่วมโครงการต่างมุ่งตรงไปที่โรงแรมระดับ 4-5 ดาวเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กไม่มีนักท่องเที่ยวจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์แต่อย่างใด เราจำเป็นต้องปิดกิจการ เป็นครั้งที่ 3 เนื่องจากแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆไม่ไหว
เหล่านี้คือปัญหาส่วนหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในเกาะภูเก็ต ทั้งก่อนหน้าและในระหว่างการดำเนินโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สะท้อนผ่านเรื่องราวคำบอกเล่าของ "เจ้าถิ่น" ซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงของ "ภูเก็ต"
ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อนำไปสู่การเปิดประเทศ กอบกู้ "ธุรกิจท่องเที่ยว" นำรายได้หลักกลับคืนมาหลังจากถูกโควิดถล่มทำลายลงอย่างยับเยิน