กองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยมากกว่า 6 กลุ่ม ยืนยันที่จะไม่เข้าร่วมงานกิจกรรมกองทัพเมียนมาและงานวันกองทัพเมียนมา เพราะไม่ยอมรับการกระทำของกองทัพเมียนมา ที่ใช้กำลังปราบปรามและสังหารประชาชน
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 64 ผู้สื่อข่าวรายงานจากชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า ผู้นำกองกำลังกระเหรี่ยงกลุ่มติดอาวุธตามแนวชายแดนเปิดเผยว่า กองบัญชาการกองทัพเมียนมาส่งหนังสือด่วนถึงผู้นำชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆที่เคลื่อนไหวอยู่ในเมียนมาจำนวน 14 กลุ่ม จากชนกลุ่มน้อย 22 กลุ่ม เพื่อเชิญร่วมงานวันกองทัพเมียนมาในวันที่ 27 มีนาคม 2564 ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเนปิดอว์นั้น
ล่าสุดกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยมากกว่า 6 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มกระเหรี่ยงคริสต์หรือกองกำลังกระเรียงอิสระ เคเอ็นยู ซึ่งต่างก็ยืนยันที่จะไม่เข้าร่วมงานกิจกรรมกองทัพเมียนมาและงานวันกองทัพเมียนมา เนื่องจากกองกำลังชนกลุ่มน้อย ผู้นำชนกลุ่มน้อย และสภาสันติภาพเคเอ็นยูกับพันธมิตร จำเป็นต้องฟังเสียงราษฎรไม่อาจยอมรับการกระทำของทหารเมียนมา ที่ใช้กำลังปราบปรามประชาชนรวมทั้งสังหารประชาชนไปจำนวนมาก ขณะที่กองกำลังกะเหรี่ยงแดงคะยาหรือ เคเอ็นพีพี อาร์มี ไม่ได้ถูกเทียบเชิญเนื่องจากไม่ได้อยู่ในบัญชีผู้ลงนามเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลเมียนมาก่อนหน้านี้
...
ล่าสุดมีรายงานจากชายแดนเพิ่มเติมกองกำลังกระเหรี่ยงเคเอ็นยูจากกองพลที่ 3 กองพลที่ 5 นำกำลังพร้อมอาวุธเข้าโจมตี กำลังทหารฝ่ายกองทัพเมียนมา ระเบิดรถยนต์ลำเลียงเสบียง ตัดเส้นทางลำเลียงพล มีทหารเมียนมาเสียชีวิต บาดเจ็บ ในเขตรอยต่อจังหวัดผาอัน รัฐกระเหรี่ยงกับแขวงบาโก ซึ่งคาดว่าทหารเมียนมาจะต้องเข้าปราบปราม ใช้กำลังทหารต่อสู้กันอย่างหนัก
ขณะที่สภาสันติภาพกระเหรี่ยงอิสระออกแถลงการณ์ไปยัง พลเอกมินอ่องหล่าย กับผู้นำทหารเมียนมา ให้หยุดทำร้ายผู้ประท้วง ให้ทหาร หน่วยงานทางทหาร หยุดยิงทั่วประเทศ รวมทั้งปลดปล่อยและยกเลิกการจับกุมประชาชนและข้าราชการเพื่อกลับมาให้บริการทั้งหมดที่สนับสนุนผู้ประท้วง ทั้งนี้เคเอ็นยูจำป็นต้องปกป้องประชาชนหากถูกคุกคามอย่างแน่นอน
สำหรับรายชื่อที่ถูกเทียบเชิญมี 14 กลุ่มคือ 1 สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) 2 พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP/SSA) 3.กองทัพเมืองลา (NDAA) 4.แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF) 5.องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO) 6.พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) 7.กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย (DKBA) 8.สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC) 9.พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP) 10. กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) 11.กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) 12.กองทัพโกก้าง (MNDAA) 13.กองทัพตะอั้ง (TNLA) 14.กองทัพอาระกัน(AA) ซึ่งทั้ง 14 กลุ่มมีทหารอยู่ในมือรวมกันราว 3- 5 หมื่นนาย และเป็นหอกข้างแคร่ของผู้นำทางทหารเมียนมามานาน.