อีสานเผชิญแล้งหนัก ที่โคราชนํ้าเขื่อนแห้ง

เชียงใหม่ค่าฝุ่นพุ่งสูงปรี๊ด ควันไฟขาวโพลนไปทั่วเมือง ส่วนเกษตรกรแม่ฮ่องสอนไม่เข้าใจ เจ้าหน้าที่ยกเว้นให้เผาเป็นบางจุด แต่กลับเผาไร่กันไปทั่วส่งผลทำให้เกิดหมอกควัน “วราวุธ” ส่งทีมเยียวยาเหยื่อไฟป่า 4 ราย ขณะที่วิกฤติภัยแล้งหนัก ชาวบ้านขาดน้ำกินน้ำใช้ต้องวางขันรวมเงินเจาะบาดาล ส่วนที่โคราชเขื่อนน้ำลดฮวบในรอบ 21 ปี

ควันไฟยังคลุ้งทางภาคเหนือตอนบน โดยเมื่อช่วงเช้าวันที่ 5 เม.ย. นายคมสัน สุวรรณอัมพา รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ติดตามสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จ.เชียงใหม่ รับรายงานจุดความร้อนเกิดขึ้นจำนวน 223 จุด อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ 126 จุด เขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 92 จุด และพื้นที่อื่นๆ 5 จุด สั่งการทุกพื้นที่เข้าดำเนินการตรวจสอบ และติดตามอย่างใกล้ชิด ในส่วนของการแจ้งความดำเนินคดีรวม 107 คดี ใน 17 อำเภอ สำหรับในตัวเมืองเชียงใหม่ค่าฝุ่น PM 2.5 วัดได้ 123 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ฝุ่นละอองเกิดจากหมอกควันการเผาป่าใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ และยังมีหมอกควันที่ลอยมาจากจังหวัดใกล้เคียงที่เผาป่าจำนวนมาก ส่วนที่ อ.แม่วาง มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 791 มคก./ลบ.ม. รองลงมาเป็น อ.เวียงแหง วัดได้ 735 มคก./ลบ.ม.

ส่วนที่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ค่าฝุ่น PM 2.5 วัดได้ 161 มคก./ลบ.ม.อยู่เป็นอันดับ 3 ของภาคเหนือรองจาก จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย สาเหตุเกิดจากเกษตรกรเผาทำลายเศษวัชพืช เพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรในฤดูฝน ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่อนุญาตให้เผาเศษวัชพืชในที่ดินทำกินในช่วงระหว่างวันที่ 1-10 เม.ย. แต่ต้องให้มีการควบคุมไฟ และให้แบ่งโซนกันเผาตามที่ทางการกำหนดให้ แต่เกษตรกรไม่เข้าใจ พากันจุดไฟเผาไร่กันไปทั่ว ส่งผลให้หมอกควันไฟฟุ้งกระจายไปทั่วเมือง ขณะที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดแม่ฮ่องสอน รายงานผลการตรวจพบจุดความร้อนในระบบเวียร์ช่วงเวลา 01.00-03.30 น. วันที่ 5 เม.ย. จำนวน 147 จุด แยกเป็น อ.ปางมะผ้า 5 จุด อ.ปาย 35 จุด อ.ขุนยวม 23 จุด อ.สบเมย 51 จุด อ.เมืองแม่ฮ่องสอน 14 จุด อ.แม่สะเรียง 12 จุด และ อ.แม่ลาน้อย 7 จุด

...

ด้านนายเจริญ ใจชน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ไฟป่าสถานีควบคุมไฟป่าพุเตย สถานีไฟป่าแม่น้ำภาชี และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอทองผาภูมิรวมทั้งหมด 80 นาย เข้าตรวจสอบจุดความร้อนในอุทยานฯ เพื่อดับไฟป่าบริเวณป่าห้วยประจำไม้ หมู่ 4 ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ไฟลุกลามขยายวงกว้าง เป็นพื้นที่ป่าชั้นใน มีภูเขาสูงชันอยู่ใกล้แนวชายแดนไทย-เมียนมา สภาพอากาศร้อนจัด การเดินทางเข้าถึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่สามารถจัดการดับไฟได้ทุกจุด เจ้าหน้าที่ต้องตั้งทีมเฝ้าระวัง และจัดทำแนวป้องกันไฟลุกลาม

ขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจ และให้กำลังใจกับครอบครัวและญาติของเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครที่ปฏิบัติหน้าที่ดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ เสียชีวิต 4 ราย ประกอบด้วย นายนิพนธ์ จาระธรรม ผู้ใหญ่บ้าน และจิตอาสาพระราชทานหมู่ 5 ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ พลทหารปิยพันธ์ แสนสุข สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17 อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน นายเงิน นาหยิ ชาวบ้าน ต.เทอดไท อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และนางต๊ะนี กิจเจริญพัฒน์ ชาวบ้าน อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

นายวราวุธกล่าวอีกว่า ขณะนี้ปลัด ทส. และผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ไปร่วมงานสวดพระอภิธรรม พร้อมเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตเต็มที่ จะเปิดโอกาสให้คนในครอบครัวละ 1 คน เข้ามาทำงานในกรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานฯ ตามที่สมัครใจ ทุกคนเห็นแล้วว่า ไฟป่าครั้งนี้มีความรุนแรงแค่ไหน ขอฝากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เขตป่า เขตป่าสงวนฯ ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่ หากพบผู้ต้องสงสัยให้รีบแจ้งโดยด่วน ขณะนี้ทุกหน่วยงานสนธิกำลังไปทำความเข้าใจ และให้ความรู้ประชาชน เพื่อเฝ้าระวังร่วมกัน นายกฯย้ำเสมอว่าให้กระทรวงฯ ช่วยดูแลทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ และขอให้จับตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีให้ถึงที่สุด

ด้านนายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์หมอกควันใน สปป.ลาว และเมียนมา ยังมีจุดความร้อนจำนวนมาก ทำให้จังหวัดชายแดนของไทย โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ยังคงได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดน กรมควบคุมมลพิษประสานสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ตามกลไกของข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดย จัดประชุมผ่านระบบ Video Conference กับประเทศเมียนมาและ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 3 เม.ย. และทุกวันที่ค่าฝุ่นสูงขึ้น รายงานสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ทุกประเทศรับทราบปัญหา และกำหนดมาตรการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม และเน้นย้ำให้ประเทศเพื่อนบ้านช่วยควบคุมหมอกควัน

นอกจากปัญหาไฟป่าแล้ว ที่ จ.นครสวรรค์ เกิดพายุฝนและมีลูกเห็บตกในพื้นที่หมู่ 2 บ้านเขาน้อย ต.ท่าตะโก อ.ท่าตะโก ฤทธิ์พายุส่งผลให้อาคารโรงเรียนบ้านเขาน้อย หลังคาปลิวหายไปทั้งหลัง เอกสารและอุปกรณ์การเรียนการสอนพังเสียหาย บ้านเรือน ยุ้งฉางข้าว และโรงเรือนพัง ประชาชนได้รับความเสียหายจำนวน 45 หลังคาเรือน ขณะเดียวกันเสาไฟฟ้าข้างทางล้มทำให้ไฟดับ เจ้าหน้าที่เร่งแก้ไขแล้ว

สำหรับวิกฤติภัยแล้ง ชาวบ้านยังเดือดร้อนหลายพื้นที่ นายผวน เฟื่องฟู นายก อบต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวบ้านใน ต.สรอย 11 หมู่บ้าน รวม 6,300 คน ไม่มีน้ำใช้เพื่ออุปโภค บริโภค ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรไม่มีมาตั้งแต่เดือน ก.พ. ชาวบ้านต้องดิ้นรนซื้อน้ำใช้เอง ส่วนผู้ใหญ่ของจังหวัดแพร่ลงมาตรวจสอบ และรับปากชาวบ้านจะแก้ไขเร่งด่วน ขุดเจาะบ่อบาดาลให้รวม 28 บ่อ แต่เวลาผ่านไปยังไม่ดำเนินการ ชาวบ้านหารือกันระดมเงิน รวมกับงบประมาณของ อบต.สรอย ขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ 13 บ่อ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ส่วนที่ จ.นครราชสีมา ภัยแล้งส่งผลให้ปริมาณน้ำภายในเขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี 1 ในเขื่อนหลักของ จ.นครราชสีมา ระดับน้ำต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ด้านนายสมศักดิ์ ทาบโลกา ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำแชะ เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำภายในเขื่อนลำแชะล่าสุดอยู่ที่ 53.49 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 19 ของความจุกักเก็บทั้งหมดที่ 275 ล้าน ลบ.ม. หรือเป็นปริมาณน้ำต่ำสุดในรอบกว่า 21 ปี หากเทียบปริมาณน้ำในวันเดียวกันของทุกๆปี ทั้งนี้ เนื่องมาจากปริมาณฝนและน้ำท่าที่ไหลเข้าสู่เขื่อนเมื่อปีที่ผ่านมา น้อยกว่าค่าเฉลี่ยเกือบครึ่ง ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้งที่ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

...

ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รับทราบรายงานและติดตามสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือต่อเนื่อง พบว่าใน จ.เชียงราย และเชียงใหม่ ยังคงมีการสะสมของฝุ่นละอองสูงอยู่ แต่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง สถานการณ์ฝุ่นละอองดีขึ้นต่อเนื่อง จากการคาดการณ์สภาพอุตุนิยมวิทยาบริเวณภาคเหนือ อาจเกิดฝนฟ้าคะนองบางแห่ง จะทำให้ช่วงบ่ายอากาศยกตัว และทำให้การระบายฝุ่นละอองในอากาศดีขึ้น นายกฯขอความร่วมมือประชาชนงดการเผาเศษกิ่งไม้ใบไม้ เศษวัสดุการเกษตร งดเผาป่า และย้ำให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้นายกฯยังห่วงใยและติดตามสถานการณ์น้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) อย่างใกล้ชิด ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ นำแหล่งน้ำเอกชนมาเสริมในระบบเพิ่มเติม รวมทั้งรณรงค์ใช้มาตรการ 3 R (Reduce Reuse Recycle) เพื่อนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ และให้มีน้ำเพียงพอ และรณรงค์ให้ใช้น้ำ อย่างประหยัดในทุกพื้นที่