"มนัญญา" หนุนโรงงานนม อ.ส.ค.เชียงใหม่ขึ้นแท่นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ "กลุ่มเกษตรกรฯโคนม-แหล่งเรียนรู้โคนมอาชีพพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ 9" ด้าน อ.ส.ค. เตรียมดันสู่ศูนย์กลางกระจายสินค้าในพื้นที่ภาคเหนือ รุกขยายการส่งออกตลาดเพื่อนบ้าน วางเป้าปี 63 กวาดรายได้ ตปท.กว่า 1 พันล้านบาท

เมื่อวันที่ 14 ม.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเดินทางเยี่ยมชมโรงงานผลิตภัณฑ์นมห้วยแก้ว (เชียงใหม่) ของสำนักงานภาคเหนือตอนบน อ.ส.ค.ว่า เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอดโคนมอาชีพพระราชทานให้มีความมั่นคงยั่งยืน ได้มีการมอบนโยบายให้ อ.ส.ค.เร่งส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และพัฒนาวิจัยผลิตภัณฑ์ให้เกิดความหลากหลาย ควบคู่กับการเร่งขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คทั้งในและต่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากสร้างรายได้เพิ่มให้กับ อ.ส.ค.แล้ว ยังเป็นการช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรโคนมให้เกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ภายในปี 64 อ.ส.ค.ได้ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 12,000 ล้านบาท ส่วนในปี 62 นี้ ทำรายได้อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท เพิ่มจากปี 61 ที่ทำรายได้อยู่ที่ 9,560 ล้านบาท สำหรับโรงงานนม อ.ส.ค. จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทุ่มงบลงทุนกว่า 40 ล้านบาท ในการขยายกำลังผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ โดยการปรับโรงงานนม ระบบการผลิต และและเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ ที่สามารถทำการผลิตผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ ได้ถึง 6 ตัน/ชม. ทำให้ อ.ส.ค.สามารถรับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์โคนม และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจากทางภาคเหนือได้มากขึ้น และทำให้มีกำลังผลิตนมพาสเจอร์ไรส์เพิ่มจากเดิม สามารถส่งผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนสามารถกระจายผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงตลาดทั่วพื้นที่ในภาคเหนือ รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ไทยได้มีการวางแผนที่จะขยายตลาดไปยังกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ตลอดจนร้านนมต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วย

...

ปัจจุบัน อ.ส.ค.รับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์ฯ รวมกว่า 44 สหกรณ์ เฉลี่ย 800 ตันต่อวัน เพื่อรองรับการผลิตในโรงงาน อ.ส.ค.ทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือตอนบน (จังหวัดเชียงใหม่) ภาคเหนือตอนล่าง (จังหวัดสุโขทัย) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดขอนแก่น) ภาคใต้ (อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) และภาคกลาง (อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี) และมีแผนผลักดันให้โรงงานนม อ.ส.ค.จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางของแหล่งการเรียนรู้ในกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์โคนม ตลอดจนนักเรียน/นักศึกษา และองค์กรต่างๆ ที่สามารถเข้ามาขอเยี่ยมชมศึกษาดูงานและกระบวนการผลิตของ อ.ส.ค.เพื่อได้เห็นการพัฒนาและขั้นตอนการผลิต ผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณภาพ ตลอดจนได้ศึกษาเรื่องราวของโคนมอาชีพพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มอบให้แก่เกษตรกรไทยได้มีอาชีพทำกิน และ อ.ส.ค.ได้ทำหน้าที่ขององค์กรเพื่อสืบสานและสานต่อในอาชีพการเลี้ยงโคนมให้อยู่คู่กับสังคมไทยสืบไป

"การที่ อ.ส.ค.ได้มีการปรับปรุงและขยายการผลิตโรงงานนมพาสเจอร์ไรส์ จังหวัดเชียงใหม่โดยมีการทำ MOU ร่วมกับสหกรณ์ 3 สหกรณ์ ได้แก่ 1. สหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ จำกัด 2. สหกรณ์โคนมแม่โจ้ จำกัด 3. สหกรณ์โคนมแม่วาง จำกัด โดยปริมาณน้ำนมดิบที่สามารถรองรับจากเกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ได้ถึง 22 ตัน/วัน โดยจำนวนปริมาณน้ำนมดิบดังกล่าว สามารถนำมาผลิตผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์และผลิตภัณฑ์กลุ่มนมเย็นของ อ.ส.ค.โดยมีการผลิตและกระจายสินค้าได้มากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ อ.ส.ค.ยังมีแผนที่จะขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ และกลุ่มนมเย็นไปยังกลุ่มธุรกิจ Catering ต่างๆ เช่น โรงแรม ฟู้ดส์คอร์ท ร้านอาหาร อีกด้วย ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างฐานการผลิตผลิลภัณฑ์นมของ อ.ส.ค.ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อแตกไลน์สินค้าและขยายกลุ่มผู้บริโภคให้มากขึ้นแล้ว ยังช่วยเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้คนไทยได้ดื่มนมกันมากขึ้น และช่วยสืบสาน รักษา ต่อยอดโคนมอาชีพพระราชทาน จากในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้อยู่คู่กับสังคมไทยให้ยาวนานสืบไป" น.ส.มนัญญา กล่าว

ด้าน ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการผลิตผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์นมเย็น มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การลงทุนในการปรับปรุงและการขยายไลน์ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์นมเย็นที่โรงงานนม อ.ส.ค.จังหวัดเชียงใหม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะผลักดันให้เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปทั่วทุกพื้นที่ในเขตภาคเหนือ และส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศเมียนมาร์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นอกจากนี้ได้เตรียมเปิดตลาดเพิ่มไปยังประเทศเวียดนามอีกด้วย ซึ่งคาดว่ารายได้ในการส่งออกนมยูเอชที และนมพาสเจอไรส์ของสำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 63 จะสามารถทำยอดขายได้กว่า 1,000 ล้านบาท ปัจจุบัน อ.ส.ค.ได้มีการทำแผนประชาสัมพันธ์ เพื่อรณรงค์และสนับสนุนให้คนไทยและเยาวชนไทยหันมาบริโภคนม ที่มีคุณภาพจากนมโคสดแท้ 100% ไม่ผสมนมผงอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

...