กรกฎาคม-สิงหาคม ชาวบ้านในภาคเหนือจะออกหาด้วงกว่าง ในป่าที่มีใบไม้ทับถม เพราะเป็นช่วงที่ด้วงกว่างตัวเต็มวัยจะขึ้นมาจากใต้ดิน เพื่อนำมาฝึกหัดเตรียมพร้อมงานประเพณีชนกว่างที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนของทุกปี

ด้วงกว่าง (Dynastinae) กว่างโซ้ง กว่างแซม กว่างกิ กว่างอีลุ้ม หรือที่ชาวอีสานเรียก “แมงคาม” ภาคเหนือเรียกชื่อตามสี กว่างสีดำออกแดง เรียก กว่างรักน้ำใส หากมีสีดำสนิทเรียกว่า “กว่างรักน้ำปู๋”

เป็นแมลงปีกแข็ง มี 6 ขา ตัวผู้มีเขายื่นไปข้างหน้าและโค้งเข้า ช่วงปลายเขาแยกเป็นสองแฉก ซึ่งมีเขา 2-3 เขา และ 5 เขา ทำหน้าที่เป็นอาวุธประจำตัวชิงความเป็นหนึ่งในการเลือกคู่ อันเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติ ช่วงนี้เองกลุ่มคนที่ชื่นชอบจะเริ่มเสาะแสวงหาด้วงกว่างที่มีเขางุ้มใหญ่ เอามาชนกระทั่งกลายเป็นเกมกีฬาประเพณี

หลังด้วงกว่างตัวผู้หาคู่ที่ถูกใจได้แล้วจะใช้เวลาอยู่ด้วยกัน 2–4 เดือน ตัวผู้จะเริ่มตาย ส่วนตัวเมียเริ่มลงพื้นดินเพื่อวางไข่ จากนั้นจึงค่อยๆฝังกลบตัวเองและตายในที่สุด

วัฏจักรของด้วงกว่าง ช่วงที่ยังเป็นไข่และวัยอ่อนใช้เวลาอยู่ในดิน 1-2 เดือน จึงเริ่มกลายเป็นตัวหนอนหรือตัวด้วงสีขาว ตัวโต มีความยาวประมาณ 5-6 ซม. กินเศษใบไม้ผุ ตอไม้ หรือต้นไม้ที่ผุเป็นอาหาร แล้วจึงเริ่มเข้าสู่การเป็นดักแด้อีก 1 ปี

หลังฝนตกลงมาทำให้ดินอ่อน ด้วงกว่างที่เจริญเติบโตเต็มที่จะดันดินออกมาสู่โลกภายนอก หาแหล่งอาหารใหม่ อาทิ ยางไม้ ผลไม้ ยอดพืชผัก ยอดหน่อไม้ ใบคราม ไม้มะกอก กล้วย และน้ำหวานจากอ้อย เมนูโปรดปรานพิเศษซึ่งคนที่เลี้ยงกว่างมีความเชื่อ หากเลี้ยงด้วยอ้อยด้วงกว่างจะแข็งแรง ต่อสู้เก่ง และมีความอึด.