กรมการแพทย์ จับมือองค์การเภสัชฯ ม.แม่โจ้ และ มทร.ล้านนา ลงนามปลูก “กัญชา” คุณภาพ ได้สารสำคัญที่มีมาตรฐาน ไร้การปนเปื้อนมั่นใจปลาย ก.ค.ลงมือปลูกต้นแรก เผยปลูกได้สูงสุด 3,000 ต้น ช่วยได้น้ำมันกัญชาถึง 9 แสนซีซี. ลั่นอาจได้สูตรทีเอชซีสูงก่อน เหตุใช้กัญชาสายพันธุ์ไทย เพราะต้องรอพัฒนาสายพันธุ์ที่มีซีบีดีสูง ด้าน อภ. ทำร่างเกณฑ์รับซื้อดอกกัญชาแห้ง
ที่กรมการแพทย์ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผศ.พาวิน มโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชงเพื่อใช้ทางการแพทย์
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้กรมห่วงว่าจะมีสารสกัดกัญชาที่ได้มาตรฐาน ไม่พอใช้ ส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่ คือ น้ำมันกัญชาใต้ดินที่ไม่มั่นใจว่าได้มาตรฐานหรือไม่ เป็นเหตุให้ช่วงที่ผ่านมาพบผู้ป่วยจากการใช้กัญชาเข้าโรงพยาบาล ดังนั้น ต้องทำให้มีคนปลูกกัญชาที่ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น มีการสกัดที่ได้มาตรฐาน นำมาสู่การลงนามความร่วมมือแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูกโดย ม.แม่โจ้ และ มทร.ล้านนา มี อภ.เป็นผู้ผลิต จะมีการทำมาตรฐานการรับซื้อสารตั้งต้น เมื่อได้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชา กรม จะได้ใช้อย่างสบายใจ ขณะนี้มีการอบรมบุคลากรทางการแพทย์ไปจำนวนมาก นอกจากนี้จะเริ่มเปิดหลักสูตรออนไลน์ช่วง ต.ค.นี้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ กรมจะเป็นผู้รับผิดชอบในกระบวนการขออนุญาตแบบครบวงจร ทั้งการปลูก ผลิต และใช้ กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคณะกรรมการยาเสพติด คาดว่าจะยื่นขอได้ภายใน มิ.ย.นี้เมื่อมีการประชุมพิจารณาใน ก.ค.หากอนุมัติปลายเดือน ก.ค.ก็จะเริ่มปลูกได้ โดยการปลูกจะเน้นสายพันธุ์ไทย เพราะอยากใช้อะไรที่เป็นของไทย สายพันธุ์ไทยมีสารสำคัญ เตตระไฮโดรแคนนาบินอล หรือทีเอชซี (tetrahydrocannabinol : THC) สูง ทำให้รุ่นแรกๆจะยังไม่ได้ซีบีดี (น้ำมัน Cannabidiol-CBD) มากนัก ก็จะได้ตำรับทีเอชซีสูงเหมือนในใต้ดิน สามารถนำมาศึกษาทางคลินิกได้ ทั้งนี้ขอย้ำว่าการจะใช้สารสกัดกัญชาอย่าใช้มั่ว ถ้าจะไม่มีข้อบ่งชี้จริงๆก็ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อใช้สารสกัดที่ได้มาตรฐาน
...
ส่วน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.อภ.กล่าวว่า อภ.มีหน้าที่พัฒนาสารสกัดให้เป็นไปตามความต้องการ เพียงพอ และทันเวลา ความร่วมมือในครั้งนี้ อภ.จะร่างเงื่อนไขหลักเกณฑ์รับซื้อช่อดอกกัญชาแห้งทางการแพทย์ เพื่อรับซื้อวัตถุดิบจาก ม.แม่โจ้ และ มทร.ล้านนา คุณสมบัติผู้ขายจะถูกต้องตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ผ่านมาตรฐาน อย. มีใบอนุญาตถูกต้อง สายพันธุ์ที่ปลูกต้องเป็นไปตามสูตรตำรับที่ต้องการ จะมีการผลิตสารสกัดกัญชา 3 สูตร คือ สูตรทีเอชซีสูง สูตรซีบีดีสูง และสูตรอัตราส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง มาตรฐานการปลูกต้องไม่น้อยกว่ามาตรฐานการทางเกษตรที่ดี (GAP) มีการตรวจประเมินระหว่างปลูก เพื่อให้มั่นใจว่าช่อดอกที่เอามาเป็นไปตามมาตรฐานจริงๆ มีการควบคุมคุณภาพ เมื่อปลูกเสร็จมีการตรวจแล็บ ดอกแห้งต้องไม่มีสารตกค้าง มีสารสำคัญตามต้องการเพื่อทำยา โดยราคารับซื้อเป็นตามกลไกตลาด อย่างต่างประเทศจะพบว่าราคากัญชาแห้งอย่างดีเฉลี่ยกิโลกรัมละ 7 หมื่น-1 แสนบาท ทั้งนี้ การทำสัญญาซื้อขายอาจทำเป็นลอตๆ ลอตหนึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือนในการปลูกหรืออาจทำเป็นรายปีก็ได้ หลักเกณฑ์นี้ยังนำไปใช้กับผู้ขายรายอื่นที่จะมีในอนาคต เช่น วิสาหกิจชุมชนต่างๆ เป็นต้น
ด้าน ผศ.พาวิน มโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ม.แม่โจ้ มีความพร้อม เพราะเปิดสอนด้านการเกษตรมีประสบการณ์และบุคลากรก็เชี่ยวชาญด้านการปลูกพืชนโยบาย ม.แม่โจ้ ให้ความสำคัญกับกัญชาและกัญชง ในส่วนของพื้นที่ปลูกเองมีความพร้อม หากทำเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยให้ได้มาตรฐาน อย. อย่างการล้อมรั้ว เป็นต้น โดยวันที่ 10 มิ.ย.นี้ อย.จะไปดูนอกรอบว่าต้องปรับปรุงอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว หากแล้วเสร็จไม่เกิน 1 เดือนก็สามารถลงมือปลูกต้นแรกได้ แต่จะเริ่มปลูกได้เมื่อไรนั้น อยู่ที่ระยะเวลาในการขออนุญาตและพิจารณาอนุญาตในการปลูกจาก อย.และคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษด้วยที่จะประชุมกันทุกเดือน สำหรับการปลูกจะเน้นที่พันธุ์ไทย เพื่อนำมาใช้ผลิตสารสกัดและจะยังทำการวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ไทย ปกติมีทีเอชซีสูง ให้มีสารซีบีดีสูงด้วย ต้องใช้เวลาสักระยะ
ขณะที่ ศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผอ.ศูนย์วิจัยและ พัฒนาเกษตรธรรมชาติ ม.แม่โจ้ กล่าวว่า ม.แม่โจ้มีฟาร์มกลางป่า ได้รับอนุญาตรวม 907 ไร่ เป็นโซนที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างดี ไม่มีคนนอกมายุ่ง มีโรงเรือน 3,000 ตารางเมตร ที่ใช้ปลูกกัญชาโดยการปลูกในโรงเรือนหรือกรีนเฮาส์สามารถปลูกได้ 2,600 ต้น ส่วนพื้นที่กลางแจ้งปลูกได้ 13,000 ต้น และยังมีพื้นที่ที่สามารถเพาะกล้ากัญชาได้อีก 100,000 ต้น เพื่อให้ได้กัญชาตัวเมีย นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีอาคารเก็บผลผลิต มีระบบห้องเย็น ประตูเข้าออกเป็นระบบสแกน การปลูกใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานทั้งหมด มีระบบควบคุมสมาร์ทฟาร์ม ม.แม่โจ้ผลิตอุปกรณ์สมาร์ทฟาร์มเอง มีกล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง พร้อมมีศูนย์ควบคุม ที่ขาดอย่างเดียวคือรั้ว ถ้ามีก็ดำเนินการปลูกได้ทันทีที่ได้รับอนุญาต
เช่นเดียวกับ ดร.สุรพลกล่าวว่า มทร.ล้านนามีความพร้อมทั้งโรงเรือนและกลางแจ้ง มีพื้นที่ 2,200 ตารางเมตรในโรงเรือน และกลางแจ้งอีกมากกว่า 300 ไร่ ถ้าปรับปรุงสภาพด้านความปลอดภัยก็พร้อมปลูกได้ โดยพันธุ์ที่ปลูกจะเน้นพันธุ์ไทยที่ อภ.ใช้ประโยชน์ได้
ด้าน นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผอ.รพ.มะเร็งอุดรธานี กล่าวว่า จากการคำนวณคร่าวๆ กัญชา 3,000 ต้นจะสามารถนำมาสกัดเป็นสารตั้งต้นได้ 300 ลิตร เมื่อทำให้เจือจางเป็นผลิตภัณฑ์ในอัตราส่วน 1:3 ก็จะได้น้ำมันกัญชาประมาณ 900 ลิตรหรือ 9 แสนมิลลิลิตร (ซีซี) ถ้าแบ่งขวดละ 10 ซีซี ก็จะได้ถึง 9 หมื่นขวด ก็จะทำทั้ง 3 ตำรับ คือ สูตรซีบีดีสูง ทีเอชซีสูง และสูตร 1:1 จะมีเทคนิคในทางเภสัชกรรม ทุกขวดจะต้องได้สาระสำคัญเท่ากัน คือ 1 มิลลิลิตร มีสาระสำคัญ 20 มิลลิกรัม ส่วนจะมีซีบีดี ทีเอชซีเท่าไรก็แล้วแต่สูตร เช่น สูตรหนึ่งต่อหนึ่ง ซีบีดีต้องมี 10 มิลลิกรัม และทีเอชซี 10 มิลลิกรัม ใน 1 มิลลิลิตร หากทีเอชซีสูงก็จะมีค่าได้ตั้งแต่ 15-18 มิลลิกรัม ที่เหลือเป็นซีบีดี หรือสูตรซีบีดีสูง ก็ต้องมีซีบีดีตั้งแต่ 15-20 มิลลิกรัม ทีเอชซีมีตั้งแต่ 0-5 มิลลิกรัม เป็นต้น เมื่อนำมาใช้น้ำมันกัญชา 1 หยดจะต้องมีสาระสำคัญ 1 มิลลิกรัม จะทำให้คนไข้ไม่เกิดปัญหาเข้าห้องฉุกเฉินจากการใช้มากเกินไป สำหรับการสกัดกัญชาสายพันธุ์ไทยที่มีสารทีเอชซีสูงนั้น พบว่าบางสายพันธุ์สกัดด้วยแอลกอฮอล์จะได้ทีเอชซีร้อยละ 30 ซีบีดี 1 ใน 6 หากใช้คาร์บอนไดออกไซด์สกัดจะได้ทีเอชซีร้อยละ 60 แต่เชื่อว่าทั้งสองมหาวิทยาลัยจะพัฒนาสายพันธุ์ไทยให้มีซีบีดีสูงได้
...