ถือเป็นการต่อยอดโครงการจัดตั้งมูลนิธิเมล็ดพันธุ์คุณภาพเพื่อการแบ่งปัน ของบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด มุ่งเน้นให้เกษตรกรมีพืชผลบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายแล้ว ยังส่งเสริมให้ปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ขายอีกด้วย

พินหฤดา พิศจาร หนึ่งในเกษตรกร 132 ครัวเรือน ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เผยว่า เดิมทีพอหมดหน้านา ชาวบ้านมักไปรับจ้างในเมือง ปล่อยพื้นที่ว่างไว้เลี้ยงวัวควาย หรือไม่ก็ปลูก ข้าวโพด เพราะปลูกอย่างอื่นไม่เป็น กระทั่งได้รับการส่งเสริมให้ปลูกบวบหอมพื้นเมืองและผักขี้หูด เนื่องจากเป็นพืชปลูกง่าย เหมาะกับดินในพื้นที่ เริ่มแรกส่งเสริมปลูกเพื่อให้มีกินลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน มีเหลือขาย แต่ระยะหลังเจ้าหน้าที่เริ่มมาสอนให้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อฤดูกาลหน้า และเมล็ดพันธุ์อีกส่วนบริษัทจะรับซื้อ กก.ละ 400 บาท

“ต้นปีปลูกบวบกลางปีทำนา ปลายปีก็ปลูกผักขี้หูด ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะเน้นทำเมล็ดพันธุ์ขายมากกว่า เพราะได้ราคาดี มีเหลือไว้กินบ้างเล็กน้อย ที่สำคัญพืชสองชนิดนี้ไม่ต้องดูแลอะไรมาก ทนแล้ง ปุ๋ยไม่ต้องซื้อหา เพราะมีอยู่ในดินตอนทำนาอยู่แล้ว ระยะเวลาเก็บเกี่ยวเมล็ด 120 วัน ได้ผลผลิตเฉลี่ยงานละ 30-40 กก. เก็บเกี่ยวเสร็จไถกลบทำเป็นปุ๋ยได้อีก”

...

นอกจากนั้นปลูกบวบ ยังได้บวบมาตากแห้งเป็นใยบวบ ขายได้อีก กก.ละ 300 บาท เพราะสามารถ แปรรูปเป็นใยบวบขัดผิว รองเท้า และเครื่องใช้ในครัวเรือน จำหน่ายที่ร้านค้าภูฟ้า...ทั้งเมล็ดพันธุ์บวบ ผักขี้หูด ใยบวบ สร้างเม็ดเงินให้ชาวบ้านกลุ่มนี้มาแล้วกว่า 3 ปีละไม่น้อยกว่า 500,000 บาท

ส่วนวิธีเก็บเมล็ดพันธุ์อย่างถูกต้อง พินหฤดา บอกว่า วิธีการนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้กับพืชแทบทุกชนิด เริ่มจากเมื่อครบกำหนดเก็บเกี่ยว ให้ตัดต้นและตากต้นให้แห้งสนิทราว 2-3 วัน แกะเมล็ดออก สังเกตเมล็ดแห้งหรือไม่ ถ้ายังไม่แห้งต้องตากต่อไปจนกว่าจะแห้งสนิท เมล็ดเป็นสีน้ำตาล จากนั้นนำมาใส่กระด้งร่อนเอาเมล็ดเสียเมล็ดลีบและเปลือกออก คัดเมล็ดดีใส่ถุงตาข่ายเพราะระบายอากาศได้ดี นำมาแขวนในที่ร่ม อย่าให้โดนความชื้น เพียงเท่านี้จะได้เมล็ดพร้อมขายหรือเก็บไว้ปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป.