นักท่องเที่ยวแห่ลงเล่นน้ำที่แก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อคลายร้อน หลังเขื่อนเปิดประตูลดระดับน้ำให้เกาะแก่งหินใต้น้ำโผล่พ้นน้ำปีละ 1 ครั้ง ประเดิมวันแรกของเดือนเกินคาด ก่อนเปิดเป็นทางการ 9 เม.ย.67
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการท่องเที่ยวเล่นน้ำที่แก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา หลังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เพื่อลดระดับน้ำให้เกาะแก่งของแก่งสะพือโผล่พ้นน้ำ มีนักท่องเที่ยวพาครอบครัวมาเที่ยวพักผ่อนลงเล่นน้ำคลายร้อน ทั้งที่วันนี้เป็นวันทำงาน แต่ยังมีนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดพาครอบครัวเดินทางมาไม่ขาดสาย นักท่องเที่ยวบางรายนั่งทานอาหารเป็นกลุ่มครอบครัว ส่วนวัยรุ่นชายหญิงต่างพากันลงไปเล่นน้ำนั่งห่วงยางต่อแถวลงมาเป็นขบวนตามร่องน้ำ อย่างสนุกสนานซึ่งเป็นกิจกรรมที่นิยม และต้องลองเล่นที่แก่งสะพือ
ในแต่ละปีจะมีการลดระดับน้ำให้นักท่องเที่ยวทั้งในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียงเล่นได้ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากนั้นก็จะปิดประตูเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำปีนี้ จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการให้จัดมหาสงกรานต์แก่งสะพือ ประจำปี 2567 ระหว่าง วันที่ 1-30 เม.ย.67 ในชื่องาน "อัศจรรย์มหาสงกรานต์แก่งสะพือ World Songkran Festiva!" วันนี้เป็นวันแรกของงานประชาชนนักท่องเที่ยวให้การตอบรับอย่างคึกคัก และจะเปิดอย่างเป็นวันที่ 9 เมษายน 2567
...
ด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยจะมีเจ้าหน้าที่จากงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลอำเภอพิบูลมังสาหาร วางทุ่นกั้นแนวเขตน้ำลึก และมีเจ้าหน้าที่วางกำลังตามแนวทุ่นป้องกันนักท่องเที่ยวหลุดออกไปจากแนวเขต การเตรียมชุดปฏิบัติการกู้ภัยทางน้ำไว้สำหรับเกิดกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังมีร้านจำหน่ายของฝากพื้นบ้านโอทอปของอำเภอพิบูลมังสาหาร
นางสาวนลินทิพย์ น้อยวงศ์ นักท่องเที่ยวชาวจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่าหลังจากที่ทราบว่าจังหวัดอุบลราชธานีลดระดับน้ำลง เพื่อให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ ตนเองจึงอยากมาย้อนบรรยากาศเก่าๆ เมื่อ 20-30 ปี ที่เคยมาเล่นจะเหมือนเดิมไหม และเมื่อมาแล้วพบว่ามีนักท่องเที่ยวมาเล่นน้ำจำนวนมาก น้ำใสสะอาดเล่นได้สนุกปลอดภัย หลังจากนี้ถ้าตนว่าก็จะหาเวลาว่างมาอีกเพราะ 1 ปี มีแค่ครั้งเดียวเพราะปกติน้ำจะท่วมตลอดปี ส่วนเรื่องที่อยากจะฝาก คือ ขอผู้ประกอบการร้านค้าที่ให้บริการ อย่าขึ้นราคาอาหาร ทำอาหารให้ถูกสุขอนามัย เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวกลับมาอีก อันจะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนในระยะยาว.