เชื่อหรือไม่...เมื่อปี 2504 หรือ 61 ปีก่อนหน้านี้ “ประเทศไทย” มี “ป่าชายเลน” 2.29 ล้านไร่ หรือร้อยละ 0.72 พื้นที่ทั่วประเทศ...ครั้น 25 ปีต่อมาก็เหลือติดขวานทองอยู่เพียง 1.22 ล้านไร่ พอปี 2534 อกอีแป้นจะแตก!...เมื่อป่าที่ว่าถูกทำลายเหลือแค่ 1.07 ล้านไร่ หรือร้อยละ 0.33

นั่นเท่ากับว่าระยะเวลา 54 ปี...“ป่าชายเลน” เมืองไทยถูกเฉือนทิ้งไป 1.22 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับปี 2504... ภาพสะท้อนชัดเจนว่าเรานี่สุดยอดจริงๆ เรื่องผลาญทรัพยากรธรรมชาติให้ค่อยๆหมดไป โดยเฉพาะกับ “ป่า” ซึ่งมีพันธุ์ไม้คุณสมบัติพิเศษ คือสามารถเจริญพันธุ์ได้ในน้ำเค็ม

อย่างเช่น โกงกาง แสม พังกา ประสัก หัวสุม ตะบูน ลำพู ลำแพน เสม็ด บางชนิดเคยถูกนำมาแปรรูปเป็นถ่านเชื้อไฟ ถ้าเป็นวันนี้ก็ใช้คู่กับ “เตาอั้งโล่มหาเศรษฐี” ได้อย่าง...สบายๆ

ส่วนชายฝั่งที่น้ำทะเลท่วมถึงก็ถูกถมเป็นบ้านจัดสรรหรือรีสอร์ตหรู เพราะกฎหมายที่ดินสมัยก่อนระบุไว้ชัด แผ่นดินงอกเพิ่มที่ใด...ให้ถือที่นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ผู้ครองอยู่ก่อน ภูเก็ตถึงได้เป็น “ต้นแบบ” นายทุนที่ดินท้องถิ่นแดนใกล้ไกล และต่างชาติอาศัย “นอมินี” แอบเป็นเจ้าของ

...

ถามว่า...ป่าชายเลนก่อนถูกฮุบเป็น “ทำเลทอง” มีคุณค่าตามระบบนิเวศต่อพืชและสัตว์อย่างไรบ้าง? ตอบอย่างคนรู้ค่าได้ว่า...ตรงนี้เป็นแหล่งธาตุอาหารจำพวกสารอินทรีย์จากซากพืชซากสัตว์ โดยเฉพาะใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมจนกลายเป็นแพลงก์ตอนและสาหร่าย บวกกับน้ำมีความเค็มต่ำเพราะได้น้ำจืดไหลมาผสม

...นับเป็นแหล่งอาหารสำคัญแก่สัตว์ทุกชนิดบริเวณนั้น เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา กับหนอน ซึ่งกลายเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ปีกเหนือน้ำได้อีกชนิดหนึ่ง

ที่นี่จึงเหมาะสำหรับการวางไข่และอนุบาลตัวอ่อน ก่อนจะเติบโต เป็นสัตว์เศรษฐกิจให้มนุษย์ได้บริโภคกันตั้งแต่ในครัวเรือน ไปจนถึงเหลาหรูราคาแพงย่านธุรกิจ

ดังนั้น...เมื่อป่าชายเลนมีคุณประโยชน์อย่างที่รู้ โชคถึงอำนวยให้มีมนุษย์มากสำนึกช่วยเก็บรักษาป่าผืนนี้เอาไว้ พร้อมปลูกทดแทนส่วนที่หายโดยไม่จำเป็นต้อง “หิวแสง” ชิงพื้นที่ข่าว...ส่งผลให้ปี 2543 ไทยมีป่าชายเลนเพิ่มเป็น 1.57 ล้าน และเพิ่มขึ้นอีก 2,384 ไร่ ในอีก 3 ปีต่อมา

สถานการณ์เช่นนี้ดูดี ทว่า...อยากจะบอกปี 2564 ดูจะเป็นบุญของบ้านเราขณะไวรัสร้ายกำลังระบาด เรากลับมีป่าชายเลนแผ่หรา 24 จังหวัดเป็นวงกว้าง 2.86 ล้านไร่...ทำให้ไม่ต้องฝันร้ายกันอีกต่อไป

หนึ่งในนั้น...คือคอนเทนต์ “ป่าชายเลนระยอง” ที่ออร่ารับระเบียงเศรษฐกิจริมทะเลภาคตะวันออก (อีอีซี) 500 ไร่ เป็นปอดกลางนครคลุม 3 ตำบล ได้แก่ เนินพระ-ท่าประดู่-ปากน้ำ ตั้งอยู่ชายฝั่งแม่น้ำระยองไหลจากเทือกเขากองซอง-พนมศาสตร์ อำเภอปลวกแดง ลงสู่อ่าวไทย

แปลกกว่านั้นตรงกำเนิดโดยน้ำมือมนุษย์ชื่อ “สมบุญ สุขอิน” ชาวประมงริมฝั่ง ต.แม่น้ำ ขณะวัย 40 ปี และทำต่อเนื่องจนวัย 80 ปี ชายผู้นี้เล่าว่า...แต่เดิมปากแม่น้ำมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าที่ชาวบ้านนิยมเลี้ยงวัวควาย มีแม่น้ำระยองสายเล็กๆชาวบ้านเรียก “คลองใหญ่” ไหลผ่าน

“ลุงเห็นเหมาะกับการจอดพักเรือแรมคืน” เขาบอกเล่าด้วยสายตามุ่งมั่นผ่านวัย 85 ปี

“เช้าถึงค่อยออกทะเลทำประมง อยู่มาวันหนึ่ง...เกิดนำกิ่งกับลูกพันธุ์ต้นโกงกาง แสม เสม็ด จากหาดแสงจันทร์มาปักและหย่อนลูกไว้กับทุ่งวันละต้นสองต้น ทำทุกวันเป็นสิบๆปี ต้นไม้ที่ปลูกถึงเป็นป่าชายเลนอย่างที่เห็น”

จากนั้นเป็นหน้าปกให้สถาบันศึกษาทยอยมาร่วมขบวนการ “ลุงบุญ” ขวัญใจเด็กๆ

...

“ลุงเคยเป็นวิทยากรให้พวกเขาได้เรียนรู้ถึงสภาพป่าชายเลน ถามว่าปูก้ามดาบในดินโคลนมีก้ามอยู่ข้างซ้ายหรือขวา เถียงกันใหญ่สักพักลุงจึงเฉลย...มีสองก้ามซ้ายขวาไว้หาอาหารกับป้องกันศัตรู...เท่านี้ก็ได้ถ่ายทอดเป็นการสอนประสบการณ์จริงเรื่องป่าชายเลนแก่พวกเขา”

ไม่นานต่อมา...ป่าแห่งนี้ก็มีอีกหลายๆองค์กรเข้ามายื่นความรักและรักษ์พื้นที่ไว้ อาทิ “กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำระยองและป่าชายเลน” ส่วนใหญ่คือชาวชุมชนย่านปากแม่น้ำ แล้วยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชนผู้เห็นค่ามากกว่า “หิวแสง” เป็นยาดำ กำลังหนุนเสริมส่งอีกกำลัง

ทำให้เกิดการส่งเสริมป่าชายเลนอย่างมีทิศทางสัมผัสได้ด้วยสภาพแวดล้อมที่ดี เช่น การสร้างสะพานครึ่งไม้ครึ่งปูนเป็นทางเดินเท้ารอบๆเขตป่า 7 กิโลเมตร แก่ผู้สนใจศึกษาธรรมชาติและพักผ่อนกับออกกำลังกายเช้าเย็น

โดยป่าจะทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนให้ในตอนกลางวัน แล้วคายออกซิเจนตอนกลางคืน

นอกจากนี้ยังได้สัมผัสโอโซนจากแม่น้ำระยอง ด้วยเรือบริการนำเที่ยวรอบชายป่า และฝั่งตรงข้ามมีร้านอาหารแบบพื้นบ้านกับสไตล์สโลว์ไลฟ์ เติมสีสันป่าโคลนตมให้เป็นอะเมซิ่งระยอง ขานรับอีอีซีมิติด้านปัจจัยท่องเที่ยวขึ้นมาทันที...นี่คือโฉมใหม่ยุคน้ำมันรั่วใส่อ่าวไทย

...

กระทั่งปี 2561...น่าชื่นใจแทนคนเมืองนี้ เมื่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คิดโมเดลภายใต้ธีม “ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ อัญมณีหนึ่งเดียวในระยอง” คืนความสุขให้ประชาชน

โดยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆในท้องถิ่น เปิดตัวสุดอลังการเมื่อ 26 มกราคม สมัยรัฐบาล คสช.มีผู้แสดงความรักป่ากว่า 1,500 ชีวิตร่วมกระแสทิพย์ ได้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทำหน้าที่เป็นเทพารักษ์ดูแลป่า โดยไม่ต้องงมหาขวานทองใต้น้ำให้เหนื่อย

26 กรกฎาคม 2564 ตรงกับ “วันป่าชายเลนโลก” เจ้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ชุดประชาธิปไตยเลือกตั้ง แสดงดราม่าถึงความสำเร็จการฟื้นฟูป่าชายเลน 24 จังหวัด โดยลั่นวาจาภาษาดอกไม้บอกประชาชนทุกคนนั่นแหละ...คือเป็นผู้สร้างสมดุลธรรมชาติตัวจริง

...

น้ำตาจิไหล...“ป่าชายเลน” จึงดูเหมือนของเล่นชิ้นใหม่ที่มีแต่คน “รักทิพย์”? ทว่า...วันนี้อดไม่ได้จะฟ้องประชาชน สองวันที่กล่าวถึง...แท้จริงแล้ว “โป๊ะแตก” ไม่รู้เทพารักษ์ดูแลรักษาป่าแบบไหนถึงหา “ปลาตีน” พระเอกแห่งป่าผู้มากมีด้วยพลังในระบบนิเวศไม่เจอแม้แต่ตัวเดียว?

กับสองวันนั้น...รู้ไหมว่าไม่มีใครเห็นแม้แต่เงา “สมบุญ สุขอิน” หรือ “ลุงบุญ” ของเด็กเคมีตรงกันผู้สร้างป่าอัญมณีมาแต่อายุ 40 ถึง 80 ปี ทั้งที่ชายชราวัย 85 ปีคนนี้เป็นผู้ที่ “ปิดทองหลังพระ” ทั้งยังมีชีวิตอยู่ในร่มเพิงเล็กๆกับลูกชายประจำรถเก็บขยะเทศบาล ตรงถนนพระสมุทรเจดีย์

เล่ามาถึงตรงนี้ยอมรับกันตรงๆว่าทุกวันนี้...ลุงบุญเจ็บเข่าและ “เจ็บใจ” ไม่มีเงินรักษาตัว ไฟฟ้ากำลังจะถูกตัดเพราะไม่มีเงินจ่าย ข้าวสารไม่มีจะกรอกหม้อ พอมีน้ำใจจากเพื่อนประมงเขมรกับเมียนมาที่เอามาให้...ด้วยใจที่เข้มแข็ง ใครไม่เหลียวแลก็ไม่สนใจ เพราะไม่เสียชาติเกิดที่ได้ทำให้มนุษย์กับสัตว์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

แต่เมื่อสังคมรับรู้แล้วก็ยิ่งรู้สึกน่าเวทนา ด้วยรู้มาว่า...คนในสังกัด กรมทรัพยากรทางทะเลฯยืนยัน “ลุงบุญมีลูกก็ให้ลูกเลี้ยง ผมเป็นข้าราชการมีภารกิจต้องดูแลป่า ไม่มีหน้าที่แจกสวัสดิการให้กับคนนอกอย่างลุง”...

นี่หรือคือถ้อยคำจากปากเทพารักษ์ตกยุคแห่งป่าชายเลนระยอง ผู้ “ชุบมือเปิบสวาปามแสง” จาก “คนปลูกป่าปิดทองหลังพระ”?