"ประวิตร" ห่วงประชาชน สั่งเพิ่มน้ำใต้ดินให้มีน้ำอุปโภค บริโภค พอเพียง พร้อมสั่งการดูแลน้ำภาคอุตสาหกรรม EEC ทั่วถึงยั่งยืน ผ่าน 8 มาตรการหลัก 4 มาตรการเสริม


วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 พลเรือเอกพิเชฐ ตานะเศรษฐ คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำ

โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีความสุข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำกินน้ำใช้ หรือน้ำเพื่อการเกษตร โดยมอบหมายให้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการ ช่วยเหลือประชาชน ในเรื่อง น้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค ได้แก่ การจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกล โดยเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่มีปริมาณน้ำมาก ส่งผ่านระบบกระจายน้ำให้สามารถนำไปใช้ในพื้นที่ที่ขาดแคลน ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 3 แห่ง คือ

  • ตำบลสนามไชย อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี มีประชาชนได้ใช้ประโยชน์แล้วกว่า 5,000 คน ปริมาณน้ำรวม 408,800 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
  • ตำบลตลิ่งชัน ตำบลสนามคลี อำเภอเมือง และตำบลไร่รถ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 130 ตารางกิโลเมตร มีประชาชนได้ประโยชน์กว่า 25,000 คน ปริมาณน้ำรวม 2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
  • ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับประโยชน์กว่า 1,400 ครัวเรือน หรือกว่า 6,500 คน มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มเติมในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็มอีก 22 แห่ง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้กว่า 3.8 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีประชาชนได้รับประโยชน์ 13,200 คน

...

รวมถึง การสร้างสถานีจ่ายน้ำบาดาลเพื่อประชาชน เพื่อให้บริการน้ำดื่มน้ำใช้ฟรีแก่ประชาชน ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงแหล่งน้ำของประชาชน โดยดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแก่ประชาชนแล้ว 32 แห่ง คิดเป็นปริมาณน้ำกว่า 2.3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างอีก 43 แห่ง ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จประชาชนจะได้รับประโยชน์มากกว่า 19,800 ครัวเรือน ปริมาณน้ำรวม 7.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ในส่วนของ น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2563 ดำเนินการไปแล้วทั้งสิ้น 8,383 แห่ง ทั่วประเทศ มีพื้นที่ได้รับประโยชน์แล้ว 508,730 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 49,235 ครัวเรือน หรือ 246,175 คน และได้ปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรกว่า 361 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีแผนดำเนินงานเพิ่มเติมอีก 591 แห่ง รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 8,974 แห่ง ซึ่งในจำนวน 8,974 แห่ง เป็นการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อนำมาใช้ในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 126 แห่ง เกษตรกรได้รับประโยชน์มากกว่า 9,000 ราย มีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 57,800 ไร่ ปริมาณน้ำรวมกว่า 22 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

นอกจากนี้ การเติมน้ำใต้ดิน เป็นการนำน้ำที่เหลือใช้ในช่วงน้ำท่วมหลากหรือจากน้ำฝนที่ตกลงมา เติมลงสู่ชั้นน้ำบาดาล และนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาที่ต้องการ เพื่อช่วยธรรมชาติฟื้นฟูชั้นน้ำบาดาล แก้ไขปัญหาการลดระดับลงของชั้นน้ำบาดาล โดยในปีงบประมาณ 2563 ดำเนินการไปแล้ว 530 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินโครงการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศอีกจำนวน 1,000 แห่ง ปัจจุบันแล้วเสร็จ264 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2564 นี้

พลเรือเอกพิเชฐ กล่าวต่อว่า สำหรับการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงใย ผู้ประกอบการ และประชาชน ผู้ใช้น้ำ จึงได้สั่งการให้ดำเนินการมาตรการรองรับการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ฤดูแล้ง ปี 2563 โดย รองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยกำหนดมาตรการรองรับการขาดแคลนน้ำ 8 มาตรการหลัก ดังนี้

1. สูบผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างฯคลองใหญ่ เพื่อแยกเส้นท่อผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่กับท่อผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ในปริมาณ 0.6 ล้าน ลบ.ม./วัน

2. สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มาลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 3 ล้าน ลบ.ม./วัน. 3.ซ่อมแซม ระบบสูบกลับวัดละหารไร่ (แม่น้ำระยอง)

4. นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สูบใช้น้ำจากคลองน้ำหู (มีโครงการอยู่แล้ว)

5.ขอแบ่งปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกด ระบายลงคลองวังโตนด และใช้ระบบสูบผันน้ำคลองวังโตนดมาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์

6.ก่อสร้างระบบสูบกลับคลองสะพานเพื่อสูบน้ำเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์

7. ระบบสูบน้ำจากท้ายอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรบริเวณจุดสูบน้ำสถานีสูบน้ำพานทอง-พระองค์ไชยานุชิต-บางพระ

...

8. สูบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง-อ่างเก็บน้ำบางพระ จำนวน 0.18 ล้าน ลบ.ม./วัน กรณีมีฝนตกเพื่อควบคุมค่าความเค็มไม่ให้เกินเกณฑ์บริเวณจุดสูบ

นอกจากนี้ยังมี 4 มาตรการเสริมการบริหารจัดการน้ำในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ดังนี้

1. บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ประสานเจรจาซื้อน้ำจากบ่อดินเอกชน เสริมเข้าในระบบของ จ.ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ปริมาณน้ำ 14 ล้าน ลบ.ม.

2. ลดการใช้น้ำทุกภาคส่วนใน จ.ระยอง และชลบุรี 10% (ดำเนินการต่อเนื่อง ตั้งแต่กุมภาพันธ์ ถึงมิถุนายน 2563)

3. สทนช. แจ้งกระทรวงพลังงานให้โรงไฟฟ้าเอกชนในจังหวัดระยอง ชลบุรี หยุดเดินระบบอยู่ในโหมด Standby หรือเดินระบบเท่าที่จำเป็น.

4. นิคมอตุสาหกรรมใน จ.ระยอง ลดการใช้น้ำ 10%

ซึ่งทุกภาคส่วนทั้งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม รวมถึงเอกชนได้ให้ความร่วมมือร่วมใจกันดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผ่านพ้นวิกฤติได้เรียบร้อย.