นายก อบต.แสมสาร นำมวลชนชาวบ้านนับร้อย ฟ้อง "กองทัพเรือ-กรมธนารักษ์" หลังเข้าเพิกถอนทะเบียนที่ราชพัสดุ ด้วยการอ้างว่าที่ดินในตำบลแสมสารเป็นที่ดินหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2479 เพื่อปกป้องสิทธิที่ดิน ยันชุมชนนี้ชาวบ้านอาศัยอยู่กว่า 2,500 หลังคาเรือนก่อนแล้ว...
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 31 ก.ค.60 นายประเสริฐ พิทักษ์กรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้นำกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนแสมสารนับร้อยราย เดินทางมานัดสืบพยานโจทก์นัดแรก ที่ศาลพัทยา หลังจากที่ทางชุมชนได้ยื่นฟ้องร้องกองทัพเรือ กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม และกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง
นายประเสริฐ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมาได้ยื่นฟ้องว่า องค์กรทั้งสองเพิกถอนทะเบียนที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขที่ ชบ.481 ชลบุรี ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และร้องให้ศาลมีคำสั่งห้ามองค์กรทั้งสองกระทำการที่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์และประชาชนในตำบลแสมสาร ด้วยการอ้างว่าที่ดินในตำบลแสมสารเป็นที่ดินหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน พ.ศ.2479 พร้อมทั้งให้ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ โดยวันนี้ศาลได้นัดคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายมาสอบว่ามีประเด็นเพิ่มเติมหรือไม่ ขณะที่ชาวแสมสารเองในวันนี้ได้มีแสดงความจำนงในการยื่นร้องเพิ่มเติมในการเป็นโจทก์ร่วมจากเดิมอีก 128 ราย เพิ่มขึ้นอีก 154 ราย รวมกว่า 300 ราย
นายประเสริฐ เผยว่า ความเป็นมาของเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2559 ที่รัฐได้เข้ามาจัดระเบียบของชุมชนแสมสาร โดยมีนโยบายในการจัดระเบียบที่ดินใหม่คือการเอาที่ดินคืน พร้อมระบุว่าเป็นที่ราชพัสดุซึ่งมีการประกาศในพระราชกฤษฎีกาถูกต้องตั้งแต่ปี 2497 ขณะที่ชาวบ้านเองก็ต้องต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิในการที่ดินของตน เพราะชุมชนแห่งนี้มีชาวบ้านอาศัยอยู่กว่า 2,500 หลังคาเรือน หรือประชากรกว่า 6,400 ราย ในพื้นที่ 1,900 ไร่ ซึ่งได้อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่ปี 2460 หรือก่อนที่จะมีการประกาศทางกฎหมาย
...
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ก่อนที่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกามีการสำรวจภาพถ่ายทางอากาศในปี 2460 ซึ่งก็พบว่า ชุมชนแสมสารอยู่กันมาก่อน มีทั้งชุมชน วัด โรงเรียน และเจดีย์ที่ระบุไว้ชัดเจน ขณะที่การออกพระกฤษฎีกานั้นหากดำเนินการตามกฎหมายจะหวงห้ามเฉพาะที่ดินว่างเปล่า ซึ่งต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าในมาตรา 4 หรือกฎหมายแม่ซึ่งประกาศใช้ในปี 2497 เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีชาวบ้านมาอยู่ก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายการประกาศเป็นที่ราชพัสดุจึงถือว่าเป็นเรื่องไม่ชอบ ขณะที่ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือการประกาศพระราชกฤษฎีกาเรื่องที่ราชพัสดุนั้นมีการประกาศในวันที่ 10 มกราคม 2479 แต่การจะประกาศใช้ต้องอ้างอิงจากพระราชบัญญัติ ในมาตรา 5 ซึ่งปรากฏว่าพระราชบัญญัติหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่ามีการประกาศใช้ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2479 ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาก่อนหน้า หรือออกก่อนกฎหมายแม่ 3 เดือน จึงได้มีการนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้พิจารณาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัจจุบันชาวบ้านยังมีความมั่นใจในเรื่องของข้อมูลหลักฐานที่ปรากฏ ทั้งเรื่องของที่อยู่อาศัยที่มีมาก่อนการขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุ เนื่องจากมีหลักฐานตามแผนที่มณฑลปราจีนบุรีซึ่งสำรวจในปี 2460 ขณะที่วัดเองก็มีการรับรองเป็นวัดโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2473 เช่นกัน ซึ่งจากนี้ก็คงต้องดูกันต่อไปว่าผลจะออกมาอย่างไร.