หัวหน้าชุดพญาเสือ ชี้แจงกรณีวังช้างอยุธยากล่าวหาว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และทำให้เสียชื่อเสียง ยันทุกอย่างทำตามขั้นตอนตามกฎหมายครบถ้วน ไม่มีการกลั่นแกล้ง ย้ำได้ดำเนินการตาม ก.ม. วอนผู้ประกอบการถ้ายืนยันว่าถูกต้องก็ไม่ควรกลัว ก.ม. ...

จากกรณีที่หน่วยเฉพาะกิจ ชุดพญาเสือ ซึ่งนำโดย นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุด ได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่หลายหน่วยเข้าทำการตรวจสอบช้างที่สวนสัตว์หัวหินทีค อำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 7-12 มิ.ย. 59 ซึ่งทางคณะเจ้าหน้าที่ ได้อายัดช้างพลายเกาะพยาเพชร และพลายทีจี 2 ตัวไว้ กระทั่งต่อมา วังช้างอยุธยาได้ออกมาให้ข่าวและไปแจ้งเรื่องไว้เพื่อเป็นหลักฐานที่ จ.อยุธยา และมีการร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรม จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า หลักฐานของทางวังช้างอยุธยานั้นถูกต้อง และหากพบว่าการดำเนินการของชุดพญาเสือที่อายัดช้างไว้ไม่ถูกต้องจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนั้น

ต่อมา เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (19 ธ.ค.) นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจ ชุดพญาเสือ ได้ออกมาชี้แจงว่า เรื่องเดิมคือเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 59 ทางหน่วยฯ ได้เข้าทำการตรวจสอบช้างที่สวนสัตว์หัวหินทีค อ.หัวหิน และทำการอายัดช้างไว้ 2 ตัว เนื่องจากผู้ดูแลช้างไม่มีตั๋วรูปพรรณช้างตัวจริงมาแสดง พร้อมทั้ง จนท.ได้ตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าช้างทั้งสองตัว รูปพรรณช้างไม่ตรงกับในใบ สพ.5 และได้แจ้งให้ผู้ครอบครองช้างนำเอกสารตัวจริงมาแสดง แต่พบว่าในวันที่ 30 มิ.ย. 59 ในเอกสารมีการแก้ไขรายละเอียดตั๋วรูปพรรณช้างที่ อ.ไทรโยค ทั้งที่ช้างมีที่ถิ่นที่อยู่แจ้งไว้ครั้งแรกที่ อ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อตรวจสอบพบว่ามีการแก้ไขเอกสาร โดยทั้งที่ไม่มีการเคลื่อนย้าย หรือนำตัวช้างไปให้ตรวจสอบ ซึ่งในระเบียบกรมการปกครองไม่สามารถทำได้ และกรมอุทยานฯ เองก็ได้ออกหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้ทำการตรวจสอบการแก้ไขตั๋วรูปพรรณในภายหลังโดยไม่มีการตรวจดูตัวช้างที่ขอแก้ไข ว่าสามารถทำได้หรือไม่ กระทั่งต่อมา เมื่อวันที่ 27 ก.ย. คณะเจ้าหน้าที่ และสัตวแพทย์ประจำกรมฯ และฝ่ายปกครอง จึงได้เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจ DNA ว่าตรงกับผลเลือดเดิม ที่ทั้งสองตัวได้ตรวจไว้ก่อนหน้าหรือไม่ ในวิธีแซทเทลไลท์ เพื่อเปรียบเทียบกับ สถาบันสภาวิจัยฯ ได้ตรวจไว้ก่อนหน้านั้น ผลการตรวจที่ออกมาเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 59 พบว่าไม่ตรงกับตัวจริง และผลของช้างทั้งสองตัว ไม่มีความสัมพันธ์กับพ่อและแม่ คือ ไม่ได้เป็นพ่อแม่ลูกกัน

...

คณะเจ้าหน้าที่จึงได้เข้าทำการตรวจยึดช้างในวันที่ 13 ธ.ค. 59 แต่กลับไม่พบช้างแต่อย่างใด คณะเจ้าหน้าที่จึงได้สอบถามผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ คุณทราย ผู้รับดูแลช้างจากพนักงานสอบสวน ต่อมา ทราบว่าได้มีการไปแจ้งความ กล่าวหาว่ามีคนมานำช้างไปจากสวนสัตว์หัวหินทีค ซึ่งทราบภายหลังว่าช้างได้ถูกย้ายไปที่วังช้างอยุธยา ที่เจ้าของเดิมครอบครอง โดยไม่บอกให้ตนทราบ และ จนท.ได้ขอพบปศุสัตว์อำเภอหัวหิน ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีว่า ทางอำเภอไม่ทราบมาก่อนว่าช้างทั้ง 2 ตัวถูกเจ้าหน้าที่อายัดไว้ เนื่องจากเจ้าของผู้ขออนุญาตไม่ได้บอกว่าช้างถูกอายัดไว้ ซึ่งหากรู้ว่าช้างถูกอายัด ก็จะไม่อนุญาตให้เคลื่อนย้ายเช่นกัน

นายชัยวัฒน์ ระบุว่า กรณีดังการมีการเคลื่อนย้ายช้างโดยไม่ได้รับความเห็นจากพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นผู้อายัดช้างนั้นๆ จึงถือว่าผิดกฎหมายฐานลักทรัพย์ของกลาง จากนั้นก็มีข่าวจากเจ้าของวังช้างอยุธยาว่า ตนไม่ทราบว่าช้างถูกอายัดไว้นั้น เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นเนื่องจากเป็นการอายัดช้างเพื่อทำการตรวจสอบ กระทั่งมีการนำเอกสารมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจ และนำเอกสารไปแก้ไข ซึ่งมีการติดต่อเรื่องเอกสารอย่างต่อเนื่องโดยตลอด อีกทั้ง ช้างทั้งสองตัว มีผู้จัดการดูแลเรื่องช้างเป็นอย่างดี แต่กลับให้ข่าวว่า ไม่รู้ อย่างนี้ถือว่าเป็นการให้ข่าวอย่างไม่เป็นธรรมต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของรัฐทำตามขั้นตอน ด้วยความรอบคอบ และเป็นธรรม ซึ่งการตรวจสอบครั้งนี้ มีทั้งการยึด อายัด และการถอนอายัดช้างเชือกอื่นๆ ที่มีหลักฐานตั๋วรูปพรรณถูกต้องให้เจ้าหน้าที่

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า การตรวจเลือดเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 59 ที่วังช้างอยุธยานั้น เป็นการตรวจเลือดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 60/2559 เรื่องมาตรการป้องกันการนำช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้เป็นการตรวจเพื่อนำไปตรวจสอบว่าตรงกับหลักฐานเดิมในคดีนี้หรือไม่ มันคนละกรณีกัน แต่ถ้าจะตรวจวิธีเดิมคือวิธีแซทเทลไลท์ นั้น จะตรวจเฉพาะตัวที่สงสัย ตัวที่คิดว่า หรือตัวที่ตั๋วรูปพรรณไม่ตรงกับตัวจริง จึงขอตรวจวิธีแซทเทลไลท์ ซึ่งวิธีนี้นั้นจะใช้ค่าใช้จ่ายมาก และใช้เวลาในการตรวจหานานมาก (จากสี่พันตัว)

จึงมีข้อสรุปว่า ผลการตรวจเลือดของคณะ จนท.ที่ได้อายัดช้างไว้นั้น ใช้วิธีแซทเทลไลท์ และตรวจหาความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกได้ และผลการตรวจออกมาแล้วว่าไม่ตรงกันทุกประเด็น ดังนั้น หน.หน่วยพญาเสือ จึงขอให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า การปฏิบัติหน้าที่ของคณะเจ้าหน้าที่ ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ถ้าผู้ประกอบการธุรกิจเรื่องช้างทำถูกต้อง ก็ไม่ควรกลัวกฎหมาย หรือกลัวการตรวจสอบแต่อย่างใด และควรเข้าขบวนการยุติธรรมในการตรวจสอบสืบสวนสอบสวนต่อไป มิควรทำวิธีการแบบนี้ ซึ่งถ้าผลที่ออกมาทางผู้ประกอบการเป็นฝ่ายถูกต้อง มีการฟ้องร้องทางกรมฯ หรือ จนท.เฉพาะราย ผู้ที่ถูกฟ้องก็ควรยอมเข้ากระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกัน.