บก.ปคบ.ร่วมกับ อย.ทลายโรงงานผลิตเครื่องสำอางใช้บำรุงผมเถื่อนยี่ห้อดัง ย่าน อ.เมืองปทุมธานี ยึดของกลางผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมกว่า 2.8 แสนชิ้น พร้อมอุปกรณ์การผลิต รวมมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท จับเจ้าของโรงงานหญิง อึ้งจบแค่ ม.6 เผยผลิตยาบำรุงผมขึ้นมาเองจากประสบการณ์ของสามีเคยเป็นเซลส์ขายเครื่องสำอาง สินค้าขายดีโกยรายได้ตกเดือนละ 6 แสนบาท มีลูกค้าทั่วประเทศ ทั้งเปิดร้านเสริมสวย ร้านค้า ร้านขายเครื่องสำอาง รวมกว่า 1,500 ราย

ตำรวจร่วมกับ อย.ทลายโรงงานผลิตครีมบำรุงผมไม่ได้มาตรฐาน เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 13 ก.ค. พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วย นายแพทย์ภุชงค์ ไชยชิน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี นำกำลังเปิดปฏิบัติการทลายแหล่งผลิตเครื่องสำอางบำรุงผมไม่ได้มาตรฐาน ยี่ห้อสมุนไพรบัวทอง บริษัทบัวทอง คอสเมติกส์ 2021 จำกัด เลขที่ 79/3 หมู่ 6 ต.บางพูน อ.เมืองปทุมธานี พร้อมตรวจยึดของกลาง อาทิ น้ำมันใส่ผม น้ำมันบำรุงเส้นผม ครีมบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ ครีมขจัดรังแค ครีมน้ำนมบำรุงผม ครีมหมักผม รวม 283,200 ชิ้น พร้อมอุปกรณ์การผลิตคิดเป็นมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท

พล.ต.ต.วิทยากล่าวว่า ได้รับการประสานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีว่า บริษัทบัวทอง คอสเมติกส์ 2021 จำกัด ลักลอบผลิตเครื่องสำอางบำรุงผม ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ส่งขายตามร้านเสริมสวย ร้านค้าร้านขายอุปกรณ์เสริมสวย และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เจ้าหน้าที่นำหมายค้นศาลจังหวัดปทุมธานีเข้าตรวจค้น พบ น.ส.นิสาชล เพราประโคน อายุ 47 ปี เป็นเจ้าของ ขณะตรวจค้นพบคนงาน 4 คน กำลังผลิตเครื่องสำอางและกรอกใส่ขวดด้วยมือ เจ้าหน้าที่ตรวจยึดเครื่องสำอางทั้งหมดพร้อมอุปกรณ์การผลิตไว้เป็นของกลาง

...

จากการสอบสวน น.ส.นิสาชล ให้การรับสารภาพว่า เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ศึกษาวิธีการผลิตเครื่องสำอางบำรุงผมจากสามีที่เคยเป็นเซลส์ขายเครื่องสำอางมาก่อน เมื่อปี 55 ทดลองผสมสูตรต่างๆ ก่อนลองนำไปขายราคาขวดละ 40-155 บาท ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก มีรายได้ตกเดือนละ 600,000 บาท ปีละประมาณ 7.2 ล้านบาท มีลูกค้า อาทิ ร้านเสริมสวย ร้านค้า ร้านขายเครื่องสำอาง ทั่วประเทศกว่า 1,500 ราย เบื้องต้นแจ้งข้อหา ผลิตเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง, ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง, ผลิตเครื่องสำอางปลอม โดยเป็นเครื่องสำอางที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิต หรือแหล่งผลิตที่ไม่ใช่ความจริง, ผลิตเครื่องสำอางปลอม โดยเป็นเครื่องสำอางที่แสดงว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้จดแจ้งไว้ซึ่งมิใช่ความจริง และผลิตเครื่องสำอางฉลากแสดงข้อความที่ไม่ตรงต่อความจริง นำตัวส่ง กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่