จนท.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ลงพื้นที่สำรวจ-จับ "อีกัวน่า" ที่ลพบุรี พบหลายตัวทั้งเล็กและใหญ่ ลุยจับส่งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก ด้าน "ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ" เผยชาวบ้านบอกพบเห็นมานานกว่า 10 ปี ขยายพันธ์ุเติบโตตามธรรมชาติ เตือน "อีกัวน่าเขียว" มักพบเชื้อ "ซาลโมเนลลา" ซึ่งคนอาจติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรงและทางอ้อม จากการขับถ่ายของเสีย-ปนเปื้อนอาหาร ซึ่งจะมีอาการอาเจียนท้องเสียได้ ยืนยันยังไม่มีหลักฐานถูกปล่อยมาจริง ชี้ถ้ามีหลักฐานอาจดำเนินคดีได้
จากกรณีที่มีการพบอีกัวน่าเขียว แพร่กระจายพันธุ์จำนวนมาก ในพื้นที่ชุมชนเขาพระยาเดินธง หมู่ 3 ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากอีกัวน่าได้เข้าไปกินพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ประชาชนในบริเวณดังกล่าว อีกทั้งยังหวาดกลัวเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งทำให้ท้องเสีย จนหลายหน่วยงานให้ความสนใจร่วมหาวิธีเพื่อป้องกันการแพร่กระจายพันธุ์ของอีกัวน่าเขียว
ล่าสุด เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 16 พ.ย. 66 เจ้าหน้าที่อนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณชุมชนเขาพระยาเดินธง หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 3 ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เพื่อประเมินสภาพถิ่นที่อยู่อาศัย การกระจายตัวและจำนวนประชากรอีกัวน่าเขียวในบริเวณดังกล่าว
อีกทั้งยังเดินทางไปบริเวณบ้านหนองกระดิ่ง หมู่ 1 ต.พัฒนานิคม ซึ่งเป็นแหล่งน้ำและเป็นจุดพักผ่อนริมทาง โดยพบว่าจุดดังกล่าวพบอีกัวน่าหลายตัว อาศัยอยู่ตามต้นไม้ บางตัวมีสีเขียว ซึ่งสีเขียวสามารถพบได้ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ส่วนสีเหลือง น้ำตาล ตัดสีดำนั้น ส่วนใหญ่เจอในเพศผู้ จากการลงพื้นที่สำรวจครั้งนี้มีหลายตัวมีขนาดเล็ก ตั้งแต่ 10-20 ซม. ซึ่งคาดว่าเป็นรุ่นลูกจากการขยายพันธุ์ จนถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่ความยาวประมาณ 30-40 ซม. บางตัวมีลำตัวใหญ่ น้ำหนักราว 10 กิโลกรัมขึ้นไป เจ้าหน้าที่จึงทำการจับ ส่งไปยังศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก ดูแลต่อไป
...
ด้าน นายสุทธิพงษ์ แกมทับทิม ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากกรมอุทยานฯ มาดำเนินสำรวจประชากรของอีกัวน่า โดยพบว่าจากการสำรวจด้วยตาคร่าวๆ ยังไม่ถึง 100 ตัว ส่วนความเดือดร้อนของชาวบ้านที่พบว่า มีบ้างกรณีไปกัดกินพืชผักสวนครัวของชาวบ้าน ซึ่งวันนี้เป็นการทดลองจับ แต่จะต้องมีการหามาตรการ รวมทั้งดูพฤติกรรมและเทคนิคแนวทางในการจับในครั้งต่อไป โดยจะต้องมีการระดมพลและเครื่องมือในการจับ เพื่อนำส่งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก
โดยอีกัวน่าเขียวมักพบ เชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งคนอาจติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรง และทางอ้อม จากการขับถ่ายของเสียไว้ตามทางถนน บ้านเรือน อาจปนเปื้อนอาหารซึ่งจะมีอาการอาเจียนท้องเสียได้ ซึ่งทีมสัตว์แพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติ เพื่อเข้าพื้นที่ทำการตรวจเชื้อและเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบว่า อีกัวน่าเขียวบริเวณดังกล่าวจะพบเชื้อซาลโมเนลลาหรือไม่
สำหรับกรณีที่มีประชาชนจากพื้นที่อื่น เข้ามาจับอีกัวน่าเขียวไปดูแลหรือไปเลี้ยงนั้น อีกัวน่าเขียวเป็นสัตว์ป่าควบคุมกลุ่มที่ 1 ที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศฯ ซึ่งหากพบเห็นให้แจ้งสายด่วน 1362 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งจะมีการประสานเจ้าหน้าที่ไปจับเพื่อส่งดูแลต่อไป หากจับได้ก็ถือเป็นการช่วยเหลือสัตว์ป่า และควรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจลงบันทึกประจำวัน จากนั้นแจ้งเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ให้มารับต่อไป
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ามีการปล่อยมาจากฟาร์ม ที่เลี้ยงไว้ในช่วงที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นั้น จากการสอบถามชาวบ้านทราบว่า มีการพบอีกัวน่ามานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งไม่ทราบว่ามาจากไหน แต่มีการเจริญพันธุ์และเจริญเติบโตตามธรรมชาติ จนสังเกตว่าอีกัวน่าที่นี่บางตัวตัวใหญ่มาก แต่มันไม่มีหลักฐานยืนยันว่าถูกปล่อยมาจริงหรือไม่ แต่หากมีการยืนยันก็อาจจะมีการดำเนินคดีได้