ประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการร่วมกับประชาคมโลก เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้พัฒนานโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และ จังหวัดสระบุรี พร้อม 21 หน่วยงาน ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาจังหวัดต้นแบบ
สระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำ “PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City”
โดยมี นายผล ดำธรรม ผวจ.สระบุรี ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ดร.กิตติพงค์ พร้อมวงค์ ผอ.สนง.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ น.อ.รศ.ดร.ธนากร พีระพันธุ์ นายกสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย นายปริญญา คุ้มสระพรหม ผอ.สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี และหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม ณ หอประชุมศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี
...
ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของไทยทุกรายภายใต้การทำงานของ TCMA อยู่ระหว่างขับเคลื่อนการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย “Thailand 2050 NET ZERO Cement & Concrete Roadmap” สอดคล้องกับนโยบายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
“วันนี้นับเป็นโอกาสดีอีกครั้งหนึ่ง TCMA มาร่วมมือกับจังหวัดสระบุรี และ 21 หน่วยงาน ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจก เป็นการทำงานในรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน” ดร.ชนะ กล่าว
ทั้งนี้ มีการจำลอง จังหวัดสระบุรี เป็นเสมือนตัวแทนประเทศไทย เป็นต้นแบบทดสอบการปฏิบัติลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านโครงการต้นแบบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามกรอบความร่วมมือในแต่ละสาขา ครอบคลุมทั้งภาคพลังงาน ภาคกระบวนการทางอุตสาหกรรม การใช้ผลิตภัณฑ์ การจัดการของเสียการเกษตรและอื่นๆ
...
มีเป้าหมายให้จังหวัดสระบุรีเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ มีการพัฒนาเติบโตอย่างยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG) มุ่งการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ
พร้อมนำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์สนับสนุนจังหวัดสระบุรี และร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนให้มีความก้าวหน้าบรรลุตามเป้าหมาย
นายผล ดำธรรม ผวจ.สระบุรี กล่าวว่า จังหวัดสระบุรีเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ มีเป้าหมายยกระดับสู่เมืองอุตสาหกรรมสีเขียว สอดคล้องกับนโยบายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608
...
“สระบุรีแซนด์บ็อกซ์-เมืองคาร์บอนต่ำ นับเป็นโครงการเรือธงลดก๊าซเรือนกระจกของจังหวัด ระหว่างปี 2566-2569 โดยการสนับสนุนของ 7 กระทรวง 21 หน่วยงาน จากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มธุรกิจ และท้องถิ่น มาร่วมกันขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ” นายผล กล่าว
สำหรับตัวอย่างโครงการในระยะแรก อาทิ การใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำด้วยการส่งเสริมปูนซีเมนไฮดรอลิกในทุกงานก่อสร้าง การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานคาร์บอนต่ำด้วยการจัดการวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม ภาคชุมชน พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์
...
นอกจากนี้ ศึกษาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนและนำไปใช้ประโยชน์ การทำนาน้ำน้อย และการปลูกป่า จะขยายเพิ่มเติมให้ครอบคลุมในด้านอื่นๆ จะทำให้จังหวัดสระบุรีเป็นเมืองคาร์บอนต่ำสอดคล้องตามเป้าหมาย
โครงการดังกล่าวสนับสนุนเป้าหมายไทยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการยกระดับพัฒนา จ.สระบุรี สู่เมืองอุตสาหกรรมสีเขียวอัจฉริยะ นำไปสู่สังคมแห่งคุณภาพชีวิต และเป็นต้นแบบขยายผลไปจังหวัดอื่นๆ
นับเป็นการลดโลกร้อนอย่างยั่งยืน.
สุวัฒน์ พุฒิสกุลวงศ์