ชาวปราจีนบุรี 2 อำเภอ ในนาม "กลุ่มปราจีนเข้มแข็ง" ยกขบวนร้องผู้ว่าฯ ไม่เอาโรงผลิตไฟฟ้าขยะ 3 บริษัท ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กบินทร์บุรี เพราะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัย ชี้จงใจเลี่ยงการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม กีดกันประชาชนไม่ให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น


เวลา 10.00 น. วันที่ 7 ส.ค. 66 "กลุ่มปราจีนเข้มแข็ง" จากการรวมตัวกันของอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชาวบ้าน ต.ลาดตะเคียน ต.หาดนางแก้ว และตำบลใกล้เคียงใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี กว่า 100 คน ได้เดินทางมายังศูนย์ราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมป้ายข้อความต่างๆ เช่น นิคมต้องมีธรรมาภิบาลในการอยู่ร่วมกับชุมชนชาวปราจีนบุรี ไม่สนับสนุนนิคมที่สร้างมลพิษทำลายชุมชน, พวกเราชาว อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ ไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ เป็นต้น เพื่อยืนหนังสือร้องเรียนต่อ นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ต่อมา นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางลงมาพบกับพี่น้องประชาชน โดยมีกลุ่มตัวแทนชาวบ้านอ่านข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีว่า ชาวบ้านที่เดินทางมาครั้งนี้ เพื่อขอยืนยันคัดค้านการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมของบริษัท พราวฟ้า พาวเวอร์ จำกัด, บริษัท กรีน แคร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท มี พรีม เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ทั้ง 3 โครงการ ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กบินทร์  เพราะมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ในการที่ บริษัท พราวฟ้า พาวเวอร์ จำกัด, บริษัท กรีน แคร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท มี พรีม เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด มาดำเนินการตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม บนที่ดินที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกัน 62 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กบินทร์ ต.ลาดตะเคียน อ.กบินทร์บุรี  รวมจำนวน 3 โรง แต่ละโรงมีกำลังการผลิตโรงละ 9.9 เมกะวัตต์ เมื่อนำมารวมกันจะมีกำลังการผลิต 29.7 เมกะวัตต์แล้วนั้น พวกชาวบ้านถือว่าเป็นการจงใจเลี่ยงการทำรายงานการวิเคราห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ElA) และคณะกรรมการกำกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย

...

ทั้งนี้ ชาวบ้านไม่เชื่อมั่นในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ว่าจะดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และประชาชนมีส่วนร่วม เห็นได้ชัดจากกระบวนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ก.ค. 66 ทางบริษัทที่ปรึกษาและบริษัทเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 3 โครงการ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 3 โครงการในคราวเดียวกัน กล่าวคือ จัดประชุม 1 ครั้ง ได้ผลการประชุม 3 โรงไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน ในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทางบริษัทฯ เจ้าพนักงานท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกือบทั้งหมดไม่ทราบข้อมูล ประกอบกับสถานที่การจัดประชุมรับฟังความคิดจัดในโรงแรม ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่ตั้งโรงไฟฟ้ามากกว่า 10 กิโลเมตร และจัดประชุมในวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องไปทำงาน ย่อมแสดงถึงเจตนากีดกันไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และทำให้จำนวนผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ

"เพื่อเป็นการยืนยันว่า ประชาชนในพื้นไม่ได้รับทราบมาก่อนว่าจะมีโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม และไม่ได้ไปร่วมแสดงความคิดเห็นในวันที่ 17 ก.ค. 66 ทาง "กลุ่มปราจีนเข้มแข็ง" ได้ร่วมกันจัดเวทีชุมชน รับฟังความคิดเห็นในการที่จะมีโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ และมีการรวบรวมรายชื่อ ในวันที่ 23 ก.ค. 66 ร่วมกันแสดงเจตนาชัดเจนว่า พวกเราไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ ด้วยการปิดป้ายและปักธงเขียวทั่วทั้งพื้นที่ ทั้งนี้ พวกเราได้ทำลำดับเหตุการณ์การคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จึงขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เล็งเห็นเจตจำนงของพวกเรา และจะมุ่งเน้นการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดปราจีนบุรี"

จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านพร้อมรับปากว่า ทางจังหวัดจะให้ความเป็นธรรมในเรื่องนี้ โดยมีการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบเพื่อดำเนินการต่อไป ทำให้ชาวบ้านพอใจและเดินทางกลับภูมิลำเนา.